พาราสาวะถีอรชุน

วันอาทิตย์นี้ลุ้นกันว่าที่ประชุมสปช.จะลงมติโหวตรับหรือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ด ซึ่งทั้งหมดคงจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ“แป๊ะ” ในคืนวันสุกดิบหรือทางการเมืองก่อนเลือกตั้งก็จะเรียกกันว่าคืนหมาเห่า คาดเดาได้ยากหวยจะออกแบบไหน จากเดิมทีคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา กลายเป็นว่ายิ่งใกล้วันลงมติคะแนนเสียงไม่แบเบอร์อย่างที่คิด


วันอาทิตย์นี้ลุ้นกันว่าที่ประชุมสปช.จะลงมติโหวตรับหรือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ด ซึ่งทั้งหมดคงจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ“แป๊ะ” ในคืนวันสุกดิบหรือทางการเมืองก่อนเลือกตั้งก็จะเรียกกันว่าคืนหมาเห่า คาดเดาได้ยากหวยจะออกแบบไหน จากเดิมทีคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา กลายเป็นว่ายิ่งใกล้วันลงมติคะแนนเสียงไม่แบเบอร์อย่างที่คิด

หากสิ่งที่เห็นไม่ใช่เกมต่อรองเพื่อหวังจะได้ไปต่อในเก้าอี้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ถือว่าเป็นความโชคดีของประชาชนที่คนซึ่งมาจากการลากตั้งยังมองเห็นปัญหามหาศาลที่จะตามมา หากปล่อยผ่านให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่งไปถึงมือประชาชนในกระบวนการทำประชามติ และยิ่งจะใหญ่หลวงมากขึ้นหากผ่านไปถึงขั้นมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม เอาแค่ในชั้นประชามติแค่คะแนนเสียงที่จะผ่าน นิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสปช.ก็แสดงความกังวลว่าจะติดขัดมาตรา 37 วรรค 7 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ไปบัญญัติไว้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง นั่นถือเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส เพราะสถิติจากการทำประชามติครั้งที่ผ่านมา มีคนออกมาใช้สิทธิ์จำนวน 25 ล้านคน

จากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 47 ล้านคน และมีคนโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำ 14 ล้านเสียง หากยึดตามมาตรา 37 ก็จะเป็นผลให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ดถูกคว่ำในชั้นนี้ทันที ดังนั้น ถ้าหากสปช.โหวตรับ ต้องเป็นหน้าที่ของสนช.ที่จะต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยเปลี่ยนให้การลงประชามติจะผ่านต่อเมื่อได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

ด้วยเหตุนี้นิรันดร์จึงเรียกร้องให้สปช.พิจารณาทบทวน เพราะเห็นอยู่แล้วว่า อนาคตรถที่ชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญกำลังจะลงเหว คนที่จะขับต่อคือคนปัญญาอ่อนและจะฆ่าตัวตายเท่านั้น จึงอยากให้สปช.มีมติร่วมกันไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าลงมติผ่านไปก่อน แล้วค่อยแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวในภายหลัง จะเป็นเรื่องน่ารังเกียจ

อีกเรื่องที่ต้องฝากสปช.นิรันดร์ไปช่วยสะกิดทำความเข้าใจกับ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.คนดังด้วย เพราะเจ้าของวลี “ทำงานใหญ่ให้ต้องเอียง” เพิ่งยืนยันไปเมื่อสัปดาห์ก่อน คะแนนเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญถ้าเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ก็เป็นอันใช้ได้ น่าจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน แต่ถ้าสนช.ไม่แก้ไข หลังลงประชามติอาจใช้อำนาจของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 ก็ไม่ว่ากัน

แต่นั่นจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะจะกลายเป็นว่า ประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนตามกฎหมายที่คณะยึดอำนาจเขียนขึ้นเอง กลับไปใช้อำนาจของผู้นำการรัฐประหารมาตัดสินให้ผ่านอีก ถ้าเป็นเช่นนั้นนอกจากจะต้องเผชิญกับแรงกดดันและการเคลื่อนไหวภายในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว มาตรการตอบโต้จากต่างประเทศต่างหากที่เป็นสิ่งต้องจับตามอง

เหมือนอย่างที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ทำความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมาเป็นตอนแรก ว่าด้วยที่มาและขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุการยกร่างรัฐธรรมนูญและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว 2557 ไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

ก่อนที่จะตอกย้ำว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลโดยตรงจากการรัฐประหารในทางกฎหมายถือว่าการกระทำรัฐประหารเป็นความผิดตามกฎหมาย และเป็นการใช้กำลังเข้าถือครองอำนาจรัฐโดยวิถีทางที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย ขณะที่ในขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรม เนื่องจากองค์กรที่เข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่างไม่มีองค์กรใดที่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน รวมถึงขั้นตอนการนำลงประชามติยังขัดกับหลักการลงคะแนนเสียงโดยเสรี

การทำงานของคณะรัฐบาลคสช.หากเป็นคณะรัฐมนตรีปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากระบอบทักษิณ ถ้าดำเนินการอย่างนี้รับรองโดนวิจารณ์เละ ดีไม่ดีจะถูกยื่นร้องต่อศาลเพื่อให้ดำเนินการเอาผิดอีก นั่นก็คือ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับปลัดกระทรวง อังคารที่ผ่านมา อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม น่าจะเป็นปลัดที่ประวัติศาสตร์วงราชการไทยต้องจารึกไว้

เพราะสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกโยกจากปลัดกระทรวงการคลังให้ไปนั่งเป็นเลขาธิการ ก.พ.ร. พอมายุครัฐบาลคสช.ก็ได้รับการย้ายให้ไปเป็นปลัดกระทรวงพลังงานก่อนที่จะถูกเด้งกลับไปเป็นเลขาธิการก.พ.ร.อีกรอบ ล่าสุด ถูกย้ายกลับมาเป็นปลัดกระทรวงพลังงานอีกหน ถ้าเป็นอารีพงศ์คงต้องบอกว่าสับสนกับชีวิตตัวเองไม่น้อย แต่ขึ้นชื่อว่าข้าราชการที่ดียิ่งในยุคสมัยนี้ต้องพร้อมปฏิบัติตามนโยบายแต่โดยดี

เช่นเดียวกันกับการย้ายข้ามห้วยหนนี้ มีการโยก ธีรภัทร ประยูรสิทธิ  อธิบดีกรมป่าไม้ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้ามฟากมาเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โยก ไมตรี อินทุสุต ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนยังไม่ทันปฏิบัติหน้าที่ไปรับเก้าอี้ที่ใหญ่กว่าคือ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ส่วนที่สภาความมั่นคงแห่งชาติหรือสมช. เก้าอี้เลขาธิการ ก็เป็นการเอาคนนอกมาเสียบแทนคนในแทนที่ อนุสิษฐ คุณากร ซึ่งจะเกษียณอายุราชการ โดยคนที่เข้ามาก็คือ พลเอกทวีป เนตรนิยม  ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ถือเป็นการวางตัวบุคคลเพื่อคุมงานด้านความมั่นคงอย่างเต็มที่ของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หลังจากประสบความสำเร็จในการผลักดันบุคคลเป็นผบ.ทบ.และผบ.ตร.ก่อนหน้านี้

เห็นได้ชัดเจนว่านี่คือ การวางตัวบุคลากรด้านความมั่นคงไว้รองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากรู้ชะตากรรมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะสงบราบเรียบเหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป แม้จะใช้กฎหมายพิเศษที่เด็ดขาดก็ตาม อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่า บิ๊กตู่จะทำตามบทเพลงที่แต่งไว้ เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา

Back to top button