พลังผนึกบนเครือข่ายพันธมิตร

การตัดสินใจขายหุ้นผู้ก่อตั้ง-ผู้บริหารของบริษัท อาฟเตอร์ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU บนกระดานรายใหญ่ (Big Lot Board) จำนวนรวม 66 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 8.1% ของนางสาวกุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ และนายแม่ทัพ ต.สุวรรณ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ให้กับบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสในการผนึกกำลัง และขยายเครือข่ายงานต่อไปในอนาคตของทั้งสองฝ่ายถือเป็นการเคลื่อนไหวสร้างพันธมิตรธุรกิจที่น่าสนใจ


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

การตัดสินใจขายหุ้นผู้ก่อตั้ง-ผู้บริหารของบริษัท อาฟเตอร์ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU บนกระดานรายใหญ่ (Big Lot Board) จำนวนรวม 66 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 8.1% ของนางสาวกุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ และนายแม่ทัพ ต.สุวรรณ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ให้กับบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสในการผนึกกำลัง และขยายเครือข่ายงานต่อไปในอนาคตของทั้งสองฝ่ายถือเป็นการเคลื่อนไหวสร้างพันธมิตรธุรกิจที่น่าสนใจ

แม้ว่าการขายหุ้นของบริษัทในครั้งนี้ จะมีข้ออ้างว่า ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างการจัดการและนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยภายหลังการขายหุ้นครั้งนี้นางสาวกุลพัชร์ คงเหลือถือหุ้นใน  AU สัดส่วน 27.79% จากเดิม 31.84% และ นายแม่ทัพ ต.สุวรรณ ถือหุ้น 25.35% จากเดิม 29.40% รวมแล้วยังเกิน 50% มีอำนาจควบคุมการบริหารจัดการเท่าเดิม

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่การซื้อขายครั้งนี้ เกิดขึ้นด้วยกลยุทธ์สร้างพลังผนึกของทั้งค่าย BTS ที่มุ่งสร้างพันธมิตรเติมยุทธศาสตร์ city solutions อย่างต่อเนื่องบนเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

ในขณะที่ทางค่าย AU ก็พยายามแหวกกรอบจำกัดของการขยายสาขาเพื่อสร้างยอดขายในอนาคต

ดีลซื้อขายหุ้นระหว่างกัน จึงเป็น win-win ที่เกิดขึ้นมาสมประโยชน์

ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถทำกำไรของ AU ค่อนข้างมาก แม้จะทำการปรับกลยุทธ์สารพัด แต่ก็มีผลให้ตัวเลขผลประกอบการงวด 9 เดือนไม่สวยงามเลย

รายได้ที่ต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อนกว่า 50% (จากมากกว่า 1,205 ล้านบาท เหลือเพียงแค่ 565 ล้านบาท) ส่งผลต่อกำไรสุทธิที่รุนแรงลดไปกว่า 80% จาก 237 ล้านบาท เหลือแค่ 37 ล้านบาท เท่านั้น (ยังดีที่ไม่ขาดทุน) ทำให้ปีนี้มีโอกาสที่จะจ่ายปันผลต่ำกว่า 0.05 บาทต่อหุ้น เพราะเดิมทีก็มีกำไรสะสมต่ำอยู่แล้ว

ความสามารถทำกำไรที่ลดฮวบ ส่งผลต่อค่าสัดส่วนทางการเงิน PEG ลดฮวบลง และการที่ราคาหุ้นที่กลับวิ่งขึ้นมายืนเหนือ 10.00 บาท สวนทางความสามารถทำกำไร ก็ส่งผลเสียหายทำให้ค่า P/E ล่าสุดสูงลิ่วถึงมากกว่า 90 เท่า ไม่น่าลงทุนเอาเสียเลย เป็นอุปสรรคที่ทำให้การต่อยอดทางธุรกิจในอนาคตด้วยการเติบโตแบบอินทรีย์ทำได้ยากขึ้น เพราะมีความเสี่ยงสูง

การเปิดทางให้หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีช่องทางบนเส้นรถไฟฟ้าที่มีผู้คนผ่านไปมาวันละหลายแสนคนของ BTS ทั้งสายสีเขียวปัจจุบัน และ สายสีเขียว-สายสีชมพู-สายสีเหลืองในอนาคต น่าจะเป็นประโยชน์กับยุทธศาสตร์ของร้านขายขนมและเครื่องดื่มของ AU ได้ดีและสะดวกขึ้น จึงเป็นการสร้าง marriage of business conveniences ที่มีผลบวกมากกว่าลบ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

โอกาสของการเปิดสาขาใหม่ และยอดขาย รวมทั้งการเปิดช่องให้กับนวัตกรรมใหม่ทางการตลาดจากการขายของหวาน เครื่องดื่ม และขนม สามารถก้าวกระโดดได้ ส่วนความสามารถในการทำกำไรนั้นขึ้นกับความสามารถของผู้บริหาร AU ว่าจะสามารถปรับกลยุทธ์ต้นทุนและรายได้ให้เกิด economy of scale ได้ดีเพียงใด

ความพยายามสร้างโอกาสใหม่ยามเผชิญวิกฤตจากการชะลอตัวของรายได้ ที่ทำให้ปี 2563 เป็นที่ต่ำสุดของธุรกิจ ขยายสาขาใหม่ไม่ออก และต้องปิดร้านเมโกริที่เป็นการสร้างแบรนด์ส่วนขยาย ที่ซอยทองหล่อ (เหลือเฉพาะที่ ร้านเมโกริอีกสาขาที่สยามสแควร์วัน ชั้น 2 ซึ่งไม่ค่อยมีคนพลุกพล่าน) พร้อมกับพึ่งกลยุทธ์เอาตัวรอดแบบ ตีหัวเข้าบ้าน ผ่านร้านค้าปลีกแบบชั่วคราว ป๊อป-อัพ ชนิดกระเสือกกระสนให้บทเรียนสำคัญว่า บริษัทขายของหวานมืออาชีพอย่าง AFTER YOU ก็เปิดร้านแล้วเจ๊งได้เหมือนกันเนื่องจากการทำธุรกิจนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนที่ทุกคนคิด

การปรับยุทธศาสตร์การตลาดใหม่ด้วยการมอบตัวเข้าผนวกเป็นเครือข่ายของ BTS อาจจะไม่ได้ทำให้ AU ถูกเทกโอเวอร์ธุรกิจ แต่ถือว่าเป็นการถอยเพื่อรุกใหญ่ที่น่าสนใจเพราะนี้คือการทลายกรอบคิดแบบเดิมที่น่าสนใจ

การลดสัดส่วนถือครองหุ้นจากเดิมที่มากเกินจึงไม่ใช่การเสียหน้าแต่อย่างใดเลย แต่เป็นการปรับใหญ่ชนิด ออกจากดักแด้ ที่มีความหมายในเชิงธุรกิจในระยะยาว โดยเฉพาะแนวทางขยายสาขาไปต่างจังหวัดที่ชะงักงันเพราะโควิด-19ในปีนี้

ถือเป็นบทเรียนที่น่าติดตามผลในวันข้างหน้าว่าผลลัพธ์ของการปรับตัวสร้างพลังผนึกกับพันธมิตรใหม่ครั้งนี้ คุ้มค่าหรือไม่ เพียงใด

Back to top button