“คลัง” แนะผู้รับสิทธิ “คนละครึ่ง” เฟส 2 รีบยืนยันตัวตนบน “เป๋าตัง” ก่อนใช้จ่าย 1 ม.ค.64

“กระทรวงการคลัง” แนะผู้รับสิทธิ “คนละครึ่ง” เฟส 2 รีบยืนยันตัวตนบน “เป๋าตัง” ก่อนใช้จ่าย 1 ม.ค.64


น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 จำนวน 5 ล้านสิทธิ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 นั้น กระทรวงการคลังได้ส่งข้อความ SMS แจ้งยืนยันสิทธิให้แก่ผู้ได้รับสิทธิแล้วทุกราย ซึ่งหากติดตั้งแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และยืนยันตัวตนครบถ้วนตามขั้นตอนแล้ว จึงจะสามารถใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 ได้ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.64 โดยได้รับสิทธิในวงเงินร่วมจ่ายจากรัฐวันละไม่เกิน 150 บาท รวมไม่เกิน 3,500 บาท ตลอดระยะเวลาโครงการ

ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่า มีผู้เข้ามายืนยันตัวตนสำเร็จแล้วประมาณ 75% จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ได้รับสิทธิจำนวนที่เหลือรีบยืนยันตัวตนโดยเร็ว

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 สามารถเลือกยืนยันตัวตนได้หลายช่องทางตามความสะดวก ได้แก่ (1) ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” (2) ยืนยันตัวตน ณ สาขาธนาคารกรุงไทย หรือ (3) ยืนยันตัวตนโดยใช้บัตรประชาชน ณ ตู้เอทีเอ็มสีเทาของธนาคารกรุงไทย (สามารถค้นหาตำแหน่งของตู้เอทีเอ็มสีเทา โดยพิมพ์คำว่า “ATM กรุงไทย ยืนยันตัวตน” ใน Google Map)

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ภายใน 14 วัน คือ ภายในวันที่ 14 มกราคม 2564 มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการโดยอัตโนมัติ

สำหรับผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งกลุ่มเดิมทุกคน สามารถใช้สิทธิในวงเงินร่วมจ่ายจากรัฐตามจำนวนสิทธิคงเหลือของตนได้ถึง 31 มี.ค.64 แต่หากประสงค์จะได้รับวงเงินเพิ่มอีก 500 บาท ตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 ขอให้เข้าใช้งานแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยจะพบข้อความเตือน “ท่านได้รับสิทธิคนละครึ่ง ระยะที่ 2 มูลค่า 500 บาท และสามารถใช้สิทธิได้ถึงวันที่ 31 มี.ค.64 ซึ่งจะต้องกดปุ่ม “ยอมรับเงื่อนไขและรับสิทธิ” ก่อน จึงจะได้รับสิทธิในวงเงินส่วนเพิ่มจำนวน 500 บาท

ทั้งนี้ ด้านความคืบหน้าล่าสุดของโครงการคนละครึ่ง ณ วันที่ 27 ธ.ค.63 เวลา 21.00 น. มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1.1 ล้านร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิแล้วจำนวน 9,565,644 คน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 49,049.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 25,100.5 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 23,949.2 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, สงขลา, ชลบุรี, เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ สำหรับผู้ประกอบการร้านค้ายังคงสมัครเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง

Back to top button