“บลจ.กรุงศรี” แนะจัดพอร์ตกระจายเสี่ยง ลุ้นศก.ปี 64 ขยายตัว 5.2%
“บลจ.กรุงศรี” แนะจัดพอร์ตกระจายเสี่ยง ลุ้นศก.ปี 64 ขยายตัว 5.2%
นางสุภาพร ลีนะบรรจง รักษาการกรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 64 มีแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากที่ทุกประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวในปี 64 ที่ 5.2% หลังจากที่หดตัว 4.4% ในปี 63
ทั้งนี้ การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ได้รับอานิสงค์จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและกำไรของบริษัทจดทะเบียน ท่ามกลางสภาพคล่องในระบบที่สูง และดอกเบี้ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลบวกต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้น, ตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ มีแนวโน้มที่จะเห็น Credit spread ปรับตัวแคบลงได้ต่อเนื่อง ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน
สำหรับสหรัฐนั้นได้รับอานิสงค์จากการที่รัฐบาลเตรียมใช้นโยบายการคลังอัดฉีดมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่เข้าสู่ระบบด้วยวงเงินกว่า 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว อีกทั้งนโยบายภายใต้รัฐบาลใหม่ส่งผลดีมากขึ้น เช่น การขึ้นภาษีจะทำได้ยากขึ้น การลงทุนในกลุ่ม New economy เช่น e-commerce, digitization มีความน่าสนใจเนื่องจากมีการเติบโตสูง
ส่วนยุโรปยังคงเผชิญแรงกดดันจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศต้องประกาศมาตรการปิดเมืองรอบใหม่ เศรษฐกิจและภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพิ่มปริมาณการทำ QE เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจยุโรปให้ฟื้นตัว และความสำเร็จของวัคซีนจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นยุโรปกลับมาฟื้นตัว
เศรษฐกิจจีนมีการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง จากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ภาคการบริโภค ภาคการผลิต และภาคการส่งออก กลับมาขยายตัว โดยในปี 2021 เศรษฐกิจจีนจะเป็น 1 ในประเทศที่มีการขยายตัวสูงที่สุดในโลก ทั้งนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 8.2% ด้านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ซึ่งกดดันตลาดหุ้นจีนมาตลอดมีแนวโน้มคลี่คลายลง หลังจากโจ ไบเดน ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ
นางสุภาพร กล่าวว่า ด้านเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะยังคงอยู่ในภาวะหดตัว เนื่องจากการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในไตรมาส 2 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากการเข้าถึงวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นวงกว้างมากขึ้น ในส่วนของภาคการผลิต คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ดีจากแรงหนุนของอุปสงค์ในตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงคาดว่ารัฐบาลจะยังคงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อหนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค
นอกจากนี้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลหลายโครงการจะทยอยเสร็จสิ้นในปี 64 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชนและเพิ่มการลงทุน ภาคการท่องเที่ยวจะยังคงอ่อนแอ โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาในไตรมาสที่สาม ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของไทย จึงไม่น่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากนัก
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังคงมีแนวโน้มได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนฯ หลังจากการพัฒนาวัคซีนเป็นผลสำเร็จ รวมถึงนโยบายการเงินการคลังที่ยังคงเอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และกระแสเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่มีแนวโน้มไหลเข้าตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยในระยะสั้นบรรยากาศการลงทุนมีแนวโน้มถูกกดดันจากการกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกครั้ง ทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ
ดังนั้นการจัดพอร์ตการลงทุนในปี 64 ควรให้ความสำคัญกับการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนและสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ โดยจัดสรรเงินลงทุนบางส่วนในตราสารหนี้ไทยและต่างประเทศที่มีการลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้คุณภาพดี เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน เช่น กองทุน KFAFIX-A, กองทุน KF-CSINCOM ควบคู่กับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งควรกระจายการลงทุนทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ
ส่วนหุ้นต่างประเทศเน้นลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพสูงทั่วโลก สามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอและมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ทนทานต่อวัฏจักรเศรษฐกิจและมีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เช่น กองทุน KFGBRAND ผสมผสานกับการลงทุนในกลุ่ม New Economy และ Megatrend ซึ่งมีการเติบโตสูงอย่างหุ้นจีน A-Shares และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยสามารถลงทุนผ่านกองทุน KFACHINA-A, กองทุน KF-GTECH และ กองทุน KFHTECH-A เพื่อสร้างการเติบโตที่ดีของพอร์ตการลงทุนในระยะยาว