LEO วิ่งแรง 6% โบรกฯเชียร์ “ซื้อ” ชี้ผลงานปี 64 โตรับดีมานด์ขนส่งขยายตัว

LEO วิ่งแรง 6% โบรกฯเชียร์ "ซื้อ" ชี้ผลงานปี 64 โตรับดีมานด์ขนส่งขยายตัว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO ณ เวลา 16.17 น. อยู่ที่ระดับ 6.20 บาท บวก 0.35 บาท หรือ 5.98% สูงสุดที่ระดับ 6.45 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 5.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 475.21 ล้านบาท

ด้านนายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายนักลงทุนหลักทรัพย์ บล.คทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ทิศทางผลประกอบการของ LEO ในปี 64 ได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และคาดว่าหลายประเทศทั่วโลกจะเริ่มเปิดให้เดินทางระหว่างประเทศได้ในช่วงกลางปี 64

ทั้งนี้ มองว่าทั่วโลกจะกลับมาสั่งสินค้าทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้า E-Commerce เพิ่มเติม โดยคาดว่าการขนส่งทางอากาศจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 35% และการขนส่งทางเรือจะสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10% ขณะเดียวกันมองว่าค่าขนส่งจะยังทรงตัวอยู่ในระดัยสูงด้วย นอกจากนี้ LEO ยังได้ขยายฐานลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนผลการดำเนินงานภาพรวม

“ปีหน้าหลัก ๆ เลยจะได้รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้มีการสั่งสินค้าต่าง ๆ มากขึ้นช่วยหนุนดีมานด์การขนส่งทั่วโลกเติบโตมาก ขณะเดียวการค่าขนส่งจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากที่ปีนี้ค่าขนส่งปรับตัวขึ้นหลายเท่าตัว”นายมงคล กล่าว

บทวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า Shanghai Containerized Freight Index เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี เป็นการบ่งบอกการขนส่งสินค้าที่มีความต้องการมากขึ้นอย่างมาก ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนจะเห็นได้จาก ตัวเลขประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GPD) หลายประเทศในเอเชียปรับดีขึ้นกลับมาอยู่ในช่วงก่อนโควิด-19

ขณะที่การขนส่ง Air Freight ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก โดยข้อมูล Air Freight rate จาก Shanghai ไป Los Angeles ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่านับว่าเป็นราคาสูงสุดในรอบ 5 ปี เกิดจากผลของโควิด-19 ที่ทำให้สายการบินพาณิชย์ต่าง ๆ ที่ยังไม่สามารถบินข้ามประเทศได้ ขณะที่ยังมีความต้องการในการขนส่งทางอากาศ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า LEO ได้ประโยชน์จาก Index ทั้งสองที่ปรับเพิ่มขึ้น จากสะท้อนถึงความต้องการการขนส่งที่เพิ่มมากอย่างมีนัยสำคัญ โดย LEO มีสัดส่วนรายได้ที่เป็นบริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเล (Sea Freight) ประมาณ 70% และเป็นบริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศ (Air Freight) ประมาณ 13% ซึ่งที่ผ่านมา LEO ประสบความสำเร็จในการใช้กลยุทธ์เช่าเหมาลำ (Charter Fights) เข้ามาให้บริการลูกค้าแทนการลดลงของเที่ยวบินของสายการบิน

ขณะที่ ทรีนีตี้ ประมาณการกำไรปี 63 ของ LEO ที่ 60 ล้านบาท โดยประเมินว่ามีโอกาสที่กำไรจะมากกว่าที่คาดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้ปริมาณความต้องการขนส่งทางเรือเพิ่มมาก นอกจากนี้การที่สายการบินยังบินระหว่างประเทศได้อย่างจำกัดจาก สถานการณ์โควิด-19 แต่ความต้องการการขนส่งทางอากาศยังมีจำนวนมาก ดังนั้น กลยุทธ์การเช่าเครื่องบินแบบเหมาลำของ LEO ยังคงเป็นที่ต้องการ และทำให้อัตราการทำกำไรของ LEO ยังสูงในระดับ 30-35%

ด้านบล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผู้ประกอบการทั่วโลกจะเริ่มการสั่งซื้อสินค้าเพื่อ Restock ครั้งใหญ่ภายหลังมีวัคซีนโควิด-19 และเศรษฐกิจโลกจะเริ่มเดินหน้าอีกครั้ง สะท้อนมายังค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์ที่ปรับขึ้นแรงต่อเนื่อง สอดคล้องกับมุมมองของฝ่ายวิจัยฯเคจีไอ (ไต้หวัน) ที่ประเมินจะเกิดการ Restock สินค้าครั้งใหญ่ โดยเฉพาะสินค้าประเภทสิ่งทอและยานยนต์ ที่ชะลอตัวไปในช่วงวิกฤติโควิด-19 สินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มรองรับการเดินทางท่องเที่ยว รวมไปถึงวัฏจักรขาขึ้นรอบใหญ่ของอุปกรณ์ไอที

ทั้งนี้ ธุรกิจของ LEO เป็นประเภท “Asset light” คือไม่จำเป็นต้องมียานพาหนะสำหรับการขนส่งเป็นของตัวเอง โดยจะมุ่งเน้นการทำธุรกิจในเชิงการให้บริการ และมีพันธมิตรด้านโลจิสติกส์อยู่ทั่วโลก จึงทำให้ LEO มีความเสี่ยงต่ำในกรณีที่เกิดวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรมขนส่ง

ขณะที่ธุรกิจ E-commerce ที่กำลังเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ เป็นผลจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยเร่งมาจากวิกฤตโควิด-19 โดย LEO ได้รับอานิสงส์จากประเด็นนี้ผ่านทางธุรกิจขนส่งทางอากาศ โดยธุรกิจ E-commerce ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวกินส่วนแบ่งของธุรกิจการค้าแบบดั้งเดิมได้อีกมาก

Back to top button