พาราสาวะถีอรชุน

เรียบร้อยโรงเรียนม.44 ทักษิณ ชินวัตร วันนี้ไม่มีคำนำหน้านามว่าพันตำรวจโทอีกต่อไป หลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ใช้อำนาจตามมาตราดังว่าสั่งถอดยศแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมีผลทันที หลังคำสั่งดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา คนแดนไกลคงไม่ได้อินังขังขอบต่อเรื่องนี้


 เรียบร้อยโรงเรียนม.44 ทักษิณ ชินวัตร วันนี้ไม่มีคำนำหน้านามว่าพันตำรวจโทอีกต่อไป หลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ใช้อำนาจตามมาตราดังว่าสั่งถอดยศแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมีผลทันที หลังคำสั่งดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา คนแดนไกลคงไม่ได้อินังขังขอบต่อเรื่องนี้

ส่วนคนที่ลงนามสั่งถอดก็คงต้องการแสดงให้เห็นถึงความเด็ดขาดเหี้ยมหาญ แต่ในจังหวะที่มีคำสั่งใกล้กับช่วงที่สปช.จะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จึงมีคนมองอีกช็อตว่า เป็นเจตนายั่วยุเพื่อให้กองหนุนนายใหญ่ออกมาเคลื่อนไหว เป็นเหตุให้ใช้เป็นข้ออ้างนำมาซึ่งการคว่ำร่างได้ง่ายขึ้น เพราะเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งแตกแยกของประชาชน

ทว่าสถานการณ์เดินทางมาถึงเวลานี้ ต้องบอกว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะมีอะไรไปยั่วยุให้แนวร่วมเสื้อแดงหรือแม้กระทั่งกลุ่มสนับสนุนพรรคเพื่อไทยและนายใหญ่จะออกมาเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะการอยู่เฉยๆ แล้วจู่ๆ คสช.ก็อนุญาตให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ แถลงประกาศสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญและการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองหรือคปป. ก็สะท้อนภาพอะไรได้หลายอย่าง

ยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อ จตุพร พรหมพันธุ์ ส่งตัวแทนนปช.ไปยื่นขอแถลงข่าวแลกเปลี่ยนเรื่องร่างรัฐธรรมนูญกับสื่อมวลชนบ้างโดยใช้หัวข้อเดียวกัน โรงแรมเดียวกันกับที่เทพเทือกใช้ ปรากฏว่าคสช.ก็ออกลูกติ๊ดชึ่งอ้างหนังสือขออนุญาตไม่ครบถ้วนต่างๆ นานา แค่นี้มันก็ทำให้สังคมส่วนใหญ่เห็นแล้วว่า ที่ประกาศตัวเป็น “กรรมการ” ได้วางตัวเป็นกลางจริงหรือไม่

ทางที่ดี พันเอกวินธัย สุวารี โฆษกคสช.น่าจะหนีบเอาหนังสือขออนุญาตของเทพเทือกมาชี้แจงกับสื่อด้วย เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้เห็นว่ามาตรฐานในการพิจารณาอนุญาตให้ใครทำกิจกรรมทางการเมืองนั้น มันต้องเป็นอย่างไร แต่เมื่อไม่มีมันก็หนีไม่พ้นข้อกล่าวหาเลือกปฏิบัติ เข้าอีหรอบแบ่งฝ่ายแยกข้างเหมือนอดีตที่ผ่านมา เช่นนี้แล้ว ถนนสายปรองดองมันจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้อย่างไร

ล่าสุด ในการกล่าวปาฐกถาเรื่องผลงานความก้าวหน้าของรัฐบาลในการปฏิรูปการแก้ทุจริตคอร์รัปชั่นของบิ๊กตู่ ในช่วงเปิดให้ถามคำถามปรากฏว่านักเรียนชั้นม.5 จากโรงเรียนดังแห่งหนึ่งลุกขึ้นชูป้ายกำลังจะถามท่านผู้นำปรากฏว่าถูกทีมรปภ.ล็อกตัวในทันที โดยที่หัวหน้าคสช.ก็หยอดมุกแต่คงไม่ตลกว่า  “ใช่พวกเราหรือเปล่า เฮ่ย รปภ.ถ้าเป็นพวกเราดูแลเขาดีๆ”

แค่คำว่า “พวกเรา” ก็สะท้อนให้เห็นถึงการเลือกข้างอย่างชัดเจนแล้ว ดังนั้น กรณีของเทพเทือกและนปช.ที่คสช.ใช้มาตรฐานในการอนุญาตและห้ามจึงน่าจะเป็นภาพสะท้อนของคำว่าพวกเรานั่นเอง โดยที่กรณีของเด็กม.5 รายดังกล่าว อธิบายในเวลาต่อมาว่า มาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ป้ายข้อความไม่ได้มีเนื้อหารุนแรงหรือต่อต้านรัฐบาลหรือโจมตีใคร แต่มาเรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษาไทยให้ดีขึ้น ไม่ควรถูกคุมตัว เพราะตั้งใจจะยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีโดยตรง

สำหรับสิ่งที่เด็กม.5 รายนี้จะเสนอต่อท่านผู้นำนั้นก็คือ ถ้าจะปลูกฝังการต้านโกงที่แท้จริงต้องมีการสอนวิชาปรัชญาและจริยศาสตร์ แทนวิชาหน้าที่พลเมือง เพราะวิชาหน้าที่พลเมือง ส่วนมากมันถูกกำหนดแล้วว่าอะไรดี อะไรไม่ดี พลเมืองมีหน้าที่อะไร ซึ่งข้ามขั้นตอนว่า ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมทำอย่างนี้ ไม่ได้สร้างระบบคิด จึงควรปลูกฝังวิธีคิดอย่างมีจิตสำนึก

แต่ปรากฏว่าท่านผู้มีอำนาจไม่ได้รับฟังในสิ่งที่เด็กคนนี้ตั้งใจจะสะท้อนปัญหา แค่เห็นป้ายที่เตรียมมาก็ขวัญผวากันแล้ว นี่ย่อมเป็นภาพสะท้อนให้เห็นความแตกต่างได้เป็นอย่างดีว่า ผู้มีอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและการรัฐประหารนั้น แนวคิดและการยึดโยงฟังเสียงของประชาชนนั้นมันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คงเหมือนกับการรับหนังสือร้องเรียนของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล

หากเป็นฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลหรือคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพวกเดียวกัน จะมีคนระดับรัฐมนตรีอย่าง หม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล คอยมารับหนังสือหรือหมอบกราบนมัสการกรณีที่เป็นพระ แต่หากเป็นฝ่ายตรงข้ามจะมีแต่เจ้าหน้าที่ซึ่งส่วนใหญ่แทบจะไม่มีใครรู้จักตำแหน่งแห่งหนของคนเหล่านั้นเสียด้วยซ้ำไป หากจะแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและความแตกแยก แค่การปฏิบัติเล็กน้อยยังทำไม่ได้ภาพใหญ่ก็คงไม่ต้องไปหวังพึ่งอะไร

ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายหลังสปช.ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ดด้วยคะแนนเสียง 135 ต่อ 105 เสียง คะแนนเสียงอันโดดเด่นเห็นชัดคือสปช.สายจังหวัดกับสปช.สายทหาร-ตำรวจ รวมทั้งสายนักวิชาการ นั่นเป็นเพราะมองเห็นภาพปัญหาที่รออยู่เบื้องหน้าแล้วว่าหากปล่อยผ่านจะเป็นอย่างไร ยอมเสียหน้าวันนี้ดีกว่าจะไปเสียหายหากถูกคว่ำในชั้นการลงประชามติของประชาชน

ไม่ใช่แค่ปมหลากหลายเกี่ยวกับความไม่เป็นประชาธิปไตยในร่างรัฐธรรมนูญรวมไปถึงการตั้งท่าสืบทอดอำนาจเท่านั้น หากแต่การทำประชามติเองก็มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายว่าด้วยข้อความในมาตรา 37 และ 37/1 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แม้ วิษณุ เครืองาม จะอธิบายอย่างไร แต่กูรูกฎหมายหลายรายก็บอกว่านั่นแค่การแถ เพื่อไม่ให้ตัวเองเสียรังวัด ทั้งๆ ที่ความจริงมันคือความผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย กลายเป็นเนติบริกรตกท่อไปเสียฉิบ

หลังจากนี้คงต้องรอดูว่าคสช.จะตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 21 คนขึ้นมาเมื่อใด เพราะตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะต้องดำเนินการภายใน 30 วันหลังจากถูกสปช.คว่ำ งานนี้คนที่ชีช้ำอย่าง บวรศักดิ์ อุวรรณโณ โบกมือบ๊ายบายไม่ขอสังฆกรรมกับการร่างรัฐธรรมนูญอีกต่อไป แต่หนนี้ที่จะต้องใช้เวลายกร่าง 6 เดือนไม่จำเป็นต้องผ่านองค์กรใดให้ลงมติ ร่างที่เขียนเสร็จจะถูกส่งไปทำประชามติทันที ถ้ายังปล่อยให้เกิดการลักไก่ยัดไส้เหมือนฉบับที่ถูกคว่ำ ทำนายได้เลยว่าชะตากรรมของผู้ที่เกี่ยวข้องคงจบไม่สวยอย่างแน่นอน

Back to top button