สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 11 ม.ค. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 11 ม.ค. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (11 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า ความวุ่นวายทางการเมืองในสหรัฐซึ่งรวมถึงการที่สมาชิกพรรคเดโมแครตได้ยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกจากตำแหน่งนั้น อาจทำให้การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่เป็นไปอย่างล่าช้า นอกจากนี้ ดัชนีดาวโจนส์ยังได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนเทขายทำกำไรหลังตลาดพุ่งขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,008.69 จุด ลดลง 89.28 จุด หรือ -0.29% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,799.61 จุด ลดลง 25.07 จุด หรือ -0.66% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,036.43 จุด ลดลง 165.54 จุด หรือ -1.25%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (11 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทั่วยุโรป และในประเทศจีนนั้น ดูเหมือนมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.67% ปิดที่ 408.41 จุด

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,936.66 จุด ลดลง 112.87 จุด หรือ -0.80%, ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,662.43 จุด ลดลง 44.45 จุด หรือ -0.78% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,798.48 จุด ลดลง 74.78 จุด หรือ -1.09%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (11 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะใกล้นี้ที่เกิดจากการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นของโรคโควิด-19 ทั่วยุโรป

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,798.48 จุด ลดลง 74.78 จุด หรือ -1.09%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (11 ม.ค.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า การใช้มาตรการล็อกดาวน์ในยุโรปและจีนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันพุธนี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 1 เซนต์ ปิดที่ 52.25 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 33 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 55.66 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (11 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนช้อนซื้อเก็งกำไรหลังราคาทองร่วงลงอย่างหนักเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ การปรับฐานลงของตลาดหุ้นสหรัฐยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 15.4 ดอลลาร์ หรือ 0.84% ปิดที่ 1,850.8 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 64.7 เซนต์ หรือ 2.63% ปิดที่ 25.284 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 26.7 ดอลลาร์ หรือ 2.49% ปิดที่ 1,044.6 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 13.80 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 2,378.80 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (11 ม.ค.) โดยดอลลาร์ปรับตัวตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 1.1% เมื่อคืนนี้ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี่ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนธ.ค.

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.38% สู่ระดับ 90.4600

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 104.15 เยน จากระดับ 103.93 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8894 ฟรังก์ จากระดับ 0.8865 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2775 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2711 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2163 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2212 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.3524 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3560 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7708 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7747 ดอลลาร์

Back to top button