SCBAM เปิดขายกองทุนหุ้นสหรัฐฯ “SCBUSA”
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท …
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวม จากการทยอยฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศในช่วงที่ผ่านมา จึงได้เปิดเสนอขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยูเอส แอคทีฟ (SCB US Active Equity Fund : SCBUSA) มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท เหมาะสำหรับนักลงทุนระยะกลางถึงระยะยาวที่ต้องการกระจายการลงทุนในหุ้นบริษัทในสหรัฐฯ หลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเหนือตลาดในระยะยาว โดยเริ่มเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 12 – 18 มกราคม 2564 นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท
โดยกองทุน SCBUSA เป็นกองทุนบริหารเชิงรุก ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ Morgan Stanley Investment Fund -US Growth Fund (กองทุนหลัก) ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เน้นลงทุนหุ้นบริษัทในสหรัฐฯ เช่น กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มการแพทย์ กลุ่มสื่อสาร และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่น่าจับตามอง ภายใต้กลยุทธ์ของกองทุนหลักที่เน้นวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเชิงลึกของหุ้นรายตัว (Bottom-up security selection) เป็นปัจจัยหลักสำคัญในการลงทุนระยะยาว โดยให้ความสำคัญกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มั่นคง และบริษัทกำลังโตที่มีศักยภาพสูง และสามารถบริหารเงินทุนให้สร้างผลตอบแทนได้ในระดับสูง โดยกองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ตามความเหมาะสมสำหรับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการลงทุน
สำหรับกระบวนการการลงทุนของกองทุนหลักจะทำการรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัย เพื่อหาโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเชิงลึก โดยให้ความสำคัญด้านคุณภาพของธุรกิจเป็นอย่างแรก ปัจจุบันกองทุนหลักมีจำนวนหลักทรัพย์ในพอร์ตประมาณ 35 – 60 ตัว กระจายสัดส่วนการลงทุนของหุ้นรายตัวอยู่ที่ประมาณ 1 –5% ขึ้นอยู่กับคุณภาพและความเชื่อมั่นใน Investment Thesis โดยกองทุนจะทำการขายการลงทุนเมื่อ Investment Thesis เปลี่ยนไป เช่น ข้อได้เปรียบทางธุรกิจน้อยลง หรืออัตราการเติบโตลดลง หรือขาย/ลดสัดส่วนการลงทุนเมื่อระดับ Risk/Reward ไม่คุ้มค่าการลงทุน หรือเมื่อมีโอกาสการลงทุนใหม่ที่น่าสนใจกว่า โดยเลือกลงทุนเฉพาะในหุ้นที่ผู้จัดการกองทุนมีความมั่นใจสูง ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนเป็นระยะ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุน
สำหรับกองทุนหลักบริหารโดยผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ลงทุนยาวนานในหุ้นสหรัฐฯ ทุกขนาด รวมถึงมีความสม่ำเสมอในการสร้างผลตอบแทนระยะยาวที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นในกลยุทธ์แบบเดียวกัน นอกจากบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงทางธุรกิจแล้ว ผู้จัดการกองทุนยังให้ความสำคัญกับบริษัทที่กำลังพัฒนาธุรกิจ ผลิตสินค้าและบริการชนิดใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง
นอกจากนี้ กองทุนหลักยังสร้างโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมจากตลาดที่อาจมองข้ามหุ้นของบริษัทที่อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่าง Mid cap และ Large Cap (Relative lack of coverage), ตลาดที่มักมองข้ามหุ้นที่มีค่า P/E สูง เนื่องจากมองว่าหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าแพง (Conventional Valuation Bias), โอกาสจากวิธีการประเมินมูลค่าบริษัทแบบเดิม ที่อาจไม่สามารถสะท้อนการดำเนินธุรกิจของบริษัทรูปแบบใหม่ได้ (Expert Bias) และตลาดที่มักให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไหวระยะสั้นมากกว่าศักยภาพในการดำเนินธุรกิจระยะยาว (Short term Bias) อีกทั้งยังคงให้ความสำคัญกับความเสี่ยงระยะยาวที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจมากกว่าความผันผวนระยะสั้น โดยบริหารความเสี่ยงของหลักทรัพย์รายตัว และประเมิน Risk/Reward จากกระแสเงินสด ศักยภาพของ Optionality และความเป็นไปได้ของ Endgame รวมถึงบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยการกระจายความเสี่ยงการลงทุนในหลายหลักทรัพย์ และมีการติดตาม Attribution/Risk และ MSCI/Barra Factor Analysis ได้แก่ ความเสี่ยงด้านตลาดทุน และความเสี่ยงด้านปัจจัยการลงทุน
สำหรับกองทุนหลักมีผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ย 87.12% ต่อปี ย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 22.18% ต่อปี และย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 101.78% ต่อปี เมื่อเทียบกับดัชนี Russell 1000 Growth Net 30% Withholding Tax TR Index ที่มีผลการดำเนินงานตามลำดับอยู่ที่ 24.04% ต่อปี, 13.15% ต่อปี และ 37.09% ต่อปี (ที่มา: Morgan Stanley Investment Fund ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2563)
“สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ยังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จากความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส Covid-19 ที่เริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และข่าวดีจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี จากการที่พรรค Democrat มีอำนาจทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ (Blue Sweep) ซึ่งอาจส่งผลให้การผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีโอกาสผ่านความเห็นชอบจากสภาได้ง่ายขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงหลังจากการเลือกตั้ง โดยรวมอาจมีโอกาสปรับตัวลงในระยะสั้น หลังจากฟื้นตัวได้ดีในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมา”
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ นับว่าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก มีนโยบายสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต และเป็นประเทศที่ประกอบด้วยนักลงทุนและบริษัทจดทะเบียนชั้นนำจำนวนมาก รวมถึงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นตัวช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุน ประกอบกับรัฐบาลและธนาคารกลางมีนโยบายสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันสำคัญในอนาคตอีกด้วย