สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 21 ม.ค. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 21 ม.ค. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (21 ม.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ยังคงปิดทำนิวไฮ เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่ารัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเร่งออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน หลังจากตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,176.01 จุด ลดลง 12.37 จุด หรือ -0.04% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,853.07 จุด เพิ่มขึ้น 1.22 จุด หรือ +0.03% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,530.91 จุด เพิ่มขึ้น 73.67 จุด หรือ +0.55%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (21 ม.ค.) หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศคงนโยบายการเงินไม่เปลี่ยนแปลง แต่เตือนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนเผชิญความเสี่ยงที่จะชะงักงัน

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดแทบไม่ขยับที่ 410.89 จุด เพิ่มขึ้น 0.05 จุด หรือ +0.012%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,590.79 จุด ลดลง 37.65 จุด หรือ -0.67%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,906.67 จุด ลดลง 14.70 จุด หรือ -0.11% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,715.42 จุด ลดลง 24.97 จุด หรือ -0.37%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (21 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกว่า มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอังกฤษ

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,715.42 จุด ลดลง 24.97 จุด หรือ -0.37%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (21 ม.ค.) หลังจากสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) เปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าสต็อกน้ำมันลดลง ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 18 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 53.13 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 2 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 56.10 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (21 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากสัญญาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี สัญญาทองคำขยับลงเพียงเล็กน้อย เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์และความหวังเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเป็นปัจจัยหนุนตลาด

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 60 เซนต์ หรือ 0.03% ปิดที่ 1,865.9 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 8.8 เซนต์ หรือ 0.34% ปิดที่ 25.854 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 11.6 ดอลลาร์ หรือ 1.04% ปิดที่ 1,128 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 28.10 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 2,375.10 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (21 ม.ค.) โดยนักลงทุนเทขายดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากคาดการณ์ว่ารัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเร่งออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน หลังจากตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุล ลดลง 0.40% แตะที่ 90.1200 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 103.51 เยน จากระดับ 103.53 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8852 ฟรังก์ จากระดับ 0.8898 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2628 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2643 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2159 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2107 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3725 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3645 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7761 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7744 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button