สภาฯ ไฟเขียว ปลดล็อก “พืชกระท่อม” พ้นบัญชียาเสพติดให้โทษ มีผลบังคับใช้ใน 90 วัน
สภาฯ ไฟเขียว ปลดล็อก “พืชกระท่อม” พ้นบัญชียาเสพติดให้โทษ มีผลบังคับใช้ใน 90 วัน
สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…)พ.ศ…. ด้วยคะแนน 319 ต่อ 7 เสียง และดำเนินตามกระบวนการเพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ กล่าวว่า กมธ.ได้ใช้ ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา และมีข้อสังเกตท้ายรายงานเพื่อให้สภาพิจารณาคือ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีความมุ่งหมายเพื่อยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป ประชาชนผู้บริโภคพืชกระท่อมจะบริโภคได้โดยไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย เว้นแต่จะนำไปผสมสารเสพติดชนิดอื่น จะทำให้ผู้บริโภคจะมีความรู้สึกที่ดีได้รับการยอมรับจากสังคมว่าไม่ใช่ผู้ติดยาเสพติด
ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะบังคับใช้ภายใน 90 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกมธ.แก้ไขให้เหมาะสมจากเดิมที่กำหนดไว้ 180 วัน โดยการยกเลิกโทษพืชกระท่อมจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ใช้ในชีวิตประจำวันตามวิถีดั้งเดิม ลดภาระงานงบประมาณของรัฐในการจับกุมและดำเนินคดี รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมพืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ เพราะพืชกระท่อมคือสมุนไพรที่มีความหลากหลายทางชีวะภาพ มีศักยภาพที่ควรนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดกับประเทศโดยเฉพาะเกษตรกร จึงควรผลักดันร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลโดยเร็ว
ระยะเวลาใช้บังคับของ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้มีการร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งเพื่อให้มีมาตรการควบคุมการใช้พืชกระท่อม หลังจากยกเลิกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว โดย ร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อม กมธ.เห็นว่าไม่ควรมีข้อจำกัด เหมือนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพราะพืชกระท่อมเป็นยาสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ แต่กำหนดไม่ให้เกิดการใช้ในเด็กแล้วเยาวชน และการปลูกที่มีความเท่าเทียมกัน เป็นต้น ส่งเสริมด้านการแปรรูปให้เกิดประโยชน์ ผลิตยาสมุนไพรแก้โรคต่างๆ ให้เป็นธุรกิจที่ส่งออกได้ทั่วโลก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ
ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า เดิม กมธ.ต้องการให้มีผลบังคับใช้ทันที แต่การบังคับใช้นั้นจำเป็นต้องมีร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม มารองรับ โดยล่าสุด ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และรัฐบาลอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอเข้าสู่สภาฯ อย่างไรก็ดีเมื่อหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วเห็นว่า ระยะ 90 วันจะเหมาะสมต่อการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนเวลา 180 วันอาจนานเกินไป