พาราสาวะถี

ในที่สุดก็หนีการรัฐประหารไม่พ้นสำหรับประเทศเมียนมา หลัง ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีคนอื่นๆ ถูกจับกุมตัว


อรชุน

ในที่สุดก็หนีการรัฐประหารไม่พ้นสำหรับประเทศเมียนมา หลัง ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีคนอื่น ๆ รวมทั้งมุขมนตรีของแต่ละรัฐ ถูกจับกุมตัว เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี ส่วนเหตุผลของการยึดอำนาจครั้งนี้คือ การเลือกตั้งที่ผ่านไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมามีการทุจริต ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม

สิ่งที่ฝ่ายกองทัพเมียนมายกมาอ้างนั้นคือความไม่สบายใจต่อผลการเลือกตั้งที่ปรากฏ เนื่องจากพบว่าคนพม่าหันมามาเลือกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดีถล่มทลาย มากกว่าที่เมียนมาจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกเสียอีก โดยในวันที่รัฐประหารนั้นเดิมที่เป็นวันประชุมสภาเพื่อถ่ายโอนอำนาจ ซึ่งก่อนหน้านั้นทางกองทัพเมียนมาพยายามตั้งคำถาม หรือพยายามจะจัดให้มีการประชุมพิเศษเพื่อพูดเรื่องการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ แต่ฝ่ายสภาไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นหน้าที่ของกกต. จึงทำให้เกิดการยึดอำนาจขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่าแล้วการยึดอำนาจครั้งนี้ จะนำพาเมียนมากลับไปสู่ระบอบการปกครองโดยทหารเหมือนอดีตอีกหรือไม่ คงไม่เป็นไปเช่นนั้น ด้วยเหตุที่ว่า เมียนมาไม่ได้อยู่ในภาวะปิดประเทศเหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว เวลานี้ประเทศได้เข้าสู่เศรษฐกิจระบบโลกแล้ว จึงเป็นไปได้ยากที่จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม ขณะเดียวกัน กระบวนการของการรัฐประหารก็ไม่ได้เป็นเช่นในอดีต เพราะนี่เป็นการยึดอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

กรณีนี้น่าศึกษา โดย นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สอนวิชาอุดมการณ์การเมืองในประเทศกำลังพัฒนา ระบุว่า การรัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้ กองทัพไม่ได้ใช้คำว่ายึดอำนาจ เพราะในรัฐธรรมนูญให้อำนาจกองทัพทำรัฐประหารโดยไม่ต้องใช้คำว่ารัฐประหาร ถ้าดูในรัฐธรรมนูญปี 2008 อนุญาตให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ state of emergency อยู่ในมาตรา 417 ก็จะมีการถ่ายโอนอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ไปให้กับ commander in chief

ในที่นี้ก็คือ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีอำนาจในการปกครองประเทศ ดังนั้น หนึ่งปีนับจากวันนี้เป็นต้นไป เมียนมาจะอยู่ภายใต้กองทัพ และรัฐธรรมนูญยังอนุญาตให้ขยายได้เมื่อครบเวลา 1 ปี ในครั้งนี้จึงเรียกอย่างไม่เป็นทางการได้ว่า self-coup หรือการรัฐประหารโดยกองทัพใช้อำนาจประกาศ แน่นอนว่า แรงกดดันที่จะตามมาหลังจากนี้ย่อมมีมหาศาล ดังนั้น ฝ่ายกองทัพเมียนมาจึงพยายามใช้กลไกการอธิบายเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องรองประธานาธิบดีเซ็นมอบอำนาจ

เนื่องจากการจะเข้ามาบริหารของ commander in chief ตามรัฐธรรมนูญเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำว่ารัฐประหารที่ต้องใช้กองกำลังทหารและอาวุธนั้น รองประธานาธิบดีที่กองทัพเป็นคนตั้งต้องเซ็นให้ commander in chief เข้ามาบริหารประเทศ 1 ปี โดยมุมมองของกองทัพเมียนมาคิดว่าการใช้วิธีแบบรัฐสภาไม่ได้ผล เลยใช้วิธีรัฐประหารภายใต้รัฐธรรมนูญเสียเลย จะว่าไปการสร้างกลไกในลักษณะนี้ก็คงไม่ต่างจากการรัฐประหารด้วยรัฐธรรมนูญเหมือนในประเทศไทย ที่ได้รัฐบาลสืบทอดอำนาจเช่นทุกวันนี้

เพียงแต่ว่าในประเทศไทยไม่ได้ให้ทหารออกหน้า แต่ใช้กระบวนการของรัฐสภามาบังหน้า เพราะถ้าสุจริตใจจริง ไม่ใช่การวางแผนเพื่อการสืบทอดอำนาจหรือคิดจะลากยาวตามวาระของสภาถึงสองสมัยคือ 8 ปี คงไม่ให้อำนาจส.ว.ลากตั้งร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ถึง 5 ปี แต่ก็มีข้ออ้างอันน่าสมเพชว่า การได้มาซึ่งอำนาจให้ส.ว.ลากตั้งดังกล่าวผ่านการลงประชามติจากประชาชนภายใต้คำถามพ่วง นี่แหละ กลเกมของพวกรัฐประหารอย่างหนา สามารถอ้างได้สารพัด

ในประเด็นนี้ ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นได้อย่างน่าสนใจ ทักษะที่นายพลไทยและพม่ามีซึ่งนายพลประเทศอื่น ๆ ในโลกไม่มี เพราะนายพลประเทศอื่นมีทักษะปกป้องประเทศชาติเป็นสำคัญ ซึ่งทักษะของนายพลสองประเทศที่เหมือนกันคือ ทักษะในการทำรัฐประหารยึดอำนาจ สร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มทุนและแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจนมีฐานะร่ำรวย และอุปถัมภ์พวกพ้อง ตั้งพรรค และเข้ามาเล่นการเมือง แล้วก็วนลูปกลับไปก่อรัฐประหารอีก

ดังนั้นเอง ด้วยทักษะที่มีเหมือนกันเช่นนี้ จึงไม่มีความเป็นไปได้เลยต่อข้อเรียกร้องของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาตร์ จุฬาฯ ซึ่งส่งเสียงไปยังผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจให้รัฐบาลไทยกดดันทหารพม่าให้คืนประชาธิปไตยโดยเร็ว และสนับสนุนขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าอย่างจริงจัง สิ่งที่ต้องติดตามคงเป็นผลกระทบซึ่งจะมีต่อประเทศไทยมากกว่า ที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือสถานการณ์ชายแดนในช่วงของการเฝ้าระวังโควิดอย่างเข้มงวด

วกกลับมาที่ประเทศไทยแม้จะไร้สัญญาณของการเกิดเหตุลักษณะเดียวกับเมียนมา แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ ชวน หลีกภัย บรรจุญัตติเข้าสู่วาระเรียบร้อยแล้วนั้น ยังเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามว่า ถึงเวลา จะสามารถซักฟอกได้ตามที่ฝ่ายค้านดำเนินการหรือไม่ เพราะการตั้งการ์ดก่อกวนกันตั้งแต่ประเด็นญัตติการอภิปราย นั่นก็เท่ากับว่า เป็นการเปิดเกมใช้ความช่ำชองในแง่ของข้อกฎหมายมาดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม และยังมีความพยายามจะลากเอาคนที่เป็นกองเชียร์มาร่วมเคลื่อนไหวโดยอ้างในสิ่งที่ไม่สมควรอีกด้วย

ในเมื่อฝ่ายค้านก็ยืนยันว่าประเด็นเรื่องสถาบัน เป็นการกล่าวหาผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ทำให้สถาบันเสียหายด้วยการแอบอ้าง เมื่อมีการโจมตีเช่นนี้ถือเป็นการดีเสียด้วยซ้ำที่ท่านผู้นำจะได้แก้ต่าง และชี้ให้สังคมเห็นว่า ตัวเองไม่ได้ดึงฟ้าต่ำ นำเอาสถาบันมาเกี่ยวข้องกับกระบวนการบริหารประเทศหรือการสืบทอดอำนาจแต่อย่างใด สิ่งสำคัญที่กลุ่มเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้อย่าได้นำมาเกี่ยวพันกันเป็นอันขาดคือ ปกป้องสถาบันไม่ใช่ปกป้องรัฐบาล ดังนั้น จนถึงเวลานี้แม้ทุกอย่างจะเดินตามครรลองของระบบรัฐสภา แต่ไม่มีใครกล้ายืนยันได้ว่าเมื่อถึงเวลาทุกอย่างจะเรียบร้อยเหมือนที่ผ่านมา

Back to top button