พาราสาวะถี

ตอบแบบไม่ทันคิดหรือว่าคิดได้แค่นี้กับ อนุทิน ชาญวีรกูล ต่อประเด็นคำถามเรื่องม็อบหน้าสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ด้วยคำขู่ที่ว่าจะต้องใส่หน้ากากอนามัยถ้าไม่ใส่ต้องจัดการ


อรชุน

ตอบแบบไม่ทันคิดหรือว่าคิดได้แค่นี้กับ อนุทิน ชาญวีรกูล ต่อประเด็นคำถามเรื่องม็อบหน้าสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ด้วยคำขู่ที่ว่าจะต้องใส่หน้ากากอนามัยถ้าไม่ใส่ต้องจัดการ ถามต่อไปว่าใช้กฎหมายอะไรไปดำเนินการ ในเมื่อกรณีดังกล่าวเป็นการขอความร่วมมือจากประชาชน ใครจะใส่หรือไม่ไม่ได้มีความผิดอะไร แต่ที่จะทำให้สังคมติดใจคือประโยคที่ว่า“ปัญหาบ้านโน้น จะมายุ่งอะไรกับบ้านนี้” นี่มันความคิดแบบเผด็จการเข้าสิง

ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ได้อินังขังขอบต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันเลวร้ายต่อประเทศเพื่อนบ้านเลยหรือ มันสะท้อนของกรอบความคิดของคนที่เข้ามาเล่นการเมืองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวโดยแท้ หาได้มีอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยใด ๆ ไม่ อ้าปากเที่ยวนี้คนรู้ทันทีว่าที่อ้างเรื่องประชาธิปไตยนั้นแค่สร้างภาพให้คนเชื่อเท่านั้น

ขณะเดียวกัน หากจะตั้งคำถามย้อนกลับไปยังท่านรัฐมนตรีที่ไม่พอใจต่อการชุมนุมโดยไม่ใส่แมสก์ก็คือ แล้วใครกันที่ปล่อยให้มีการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาจนกลายเป็นการระบาดรุนแรง ซูเปอร์สเปรดเดอร์อยู่ในเวลานี้ น่าที่จะประณามและลากคอคนพวกนั้นมาประจานให้สังคมได้รับรู้มากกว่าที่จะมาประจานตัวเองว่า ไม่ได้รู้สึกรู้สากับการยึดอำนาจของเผด็จการทหารเลยแม้แต่น้อย หรือว่าสมสู่กับเผด็จการสืบทอดอำนาจจนเข้าสายเลือดไปแล้ว

ไม่ต่างกันกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่เมื่อนักข่าวถามท่าทีของรัฐบาลไทยต่อการยึดอำนาจในเมียนมา คำตอบที่ได้คือให้ยึดท่าทีตามอาเซียน พูดแบบขอไปทีนั่นเป็นเพราะเกิดอาการน้ำท่วมปาก รู้ดีว่าที่มาของตัวเองเป็นอย่างไร ดังนั้น หากจะให้พูดเรียกร้องบนเส้นทางประชาธิปไตยอย่างเต็มปากเต็มคำมันก็กระดาก ดีไม่ดีจะถูกพวกโจมตีอีกว่าเป็นเผด็จการลืมกำพืด จึงต้องตอบมาในทรงนี้ ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการตอกย้ำว่าประเทศไทยไม่ใช่ผู้นำในการพัฒนาประชาธิปไตยในภูมิภาคอีกต่อไป

ไม่ใช่เพียงเพราะเกิดการรัฐประหารถึงสองครั้งสองหนในห้วงเวลาที่ห่างกันไม่ถึง 8 ปี หากแต่การยึดอำนาจหนล่าสุด ได้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง นั่นก็คือการทำลายระบอบประชาธิปไตยของประเทศอย่างย่อยยับ นำประเทศถอยหลังย้อนกลับไปหลายสิบปี จากที่เป็นเสือในอาเซียนจึงกลายร่างเป็นแมวเหมียวแมวเซาที่ถูกครอบงำด้วยคราบไคลของเผด็จการ แม้กระทั่งจำแลงตัวเองเป็นนักเลือกตั้งแล้ว แต่ก็ยังยึดวิธีการแบบเผด็จการ ใครก็ห้ามตรวจสอบ

ที่ต้องติดตามต่อไปคือ ผู้นำเผด็จการทหารเมียนมาอย่าง พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ที่ลั่นวาจาว่าจะคืนประชาธิปไตยว่าด้วยการเลือกตั้งให้คนพม่าหลังจากที่ครบกรอบเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศแล้ว 1 ปี จะมีการทำตามสัญญาหรือไม่ อย่าได้ใช้พฤติกรรมของผู้นำเผด็จการประเทศเพื่อนบ้านที่กลับกลอกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก จนเสียรังวัดในเวทีนานาชาติ แม้กระทั่งเพลงที่ตัวเองแต่งขึ้น ซึ่งเคยประกาศยกหางตัวเองด้วยความภูมิใจ ยังต้องจำใจลบด้วยเท้าทำให้คนลืม เพราะทำตามสัญญาในเพลงไม่ได้

เรื่องของเมียนมาถ้ามองอย่างเข้าใจก็จะเห็นได้ว่า การเลือกตั้งที่จัดขึ้นมานั้นเป็นเพียงแค่พิธีกรรมเพื่อทำให้เกิดรัฐบาลที่มองว่าเป็นประชาธิปไตย ในการที่จะนำพาประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจโลก โดยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวบังคับกลไกทุกอย่างนั้นเห็นได้ชัดว่า กองทัพเมียนมายังคงมีอิทธิพลอยู่เหนือรัฐบาลอยู่ดี และปลายทางก็จะหนีไม่พ้นการรัฐประหารซึ่งก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว อยู่ที่ว่าจะมีพลังของฝ่ายประชาธิปไตยลุกขึ้นมาสู้ชนิดตายเป็นตายหรือไม่

ในบริบทของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ปัจจุบัน ก็จะเป็นเรื่องยากในการที่จะทำให้ความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาเดินไปถึงจุดนั้น ขณะเดียวกันด้วยปัญหาของชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่ถือเป็นปัญหาหลักของเมียนมา คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้การรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก อันเป็นช่องทางทำให้ฝ่ายกองทัพที่มีแสนยานุภาพที่สุด สามารถกุมความได้เปรียบทุกประการ ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจึงอยู่ที่แรงกดดันจากนานาชาติเป็นด้านหลัก

การเมืองไทยว่าด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังจากที่ครม.ตอบรับญัตติที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งมาให้พิจารณาแล้ว จากนี้อยู่ที่การหารือร่วมกันระหว่างวิปฝ่ายค้านและรัฐบาลว่าจะเคาะเงื่อนเวลาในการอภิปรายกี่วัน ยึดตามที่ครม.มีมติหรือไม่คือ อภิปราย 16-19 กุมภาพันธ์ ลงมติ 20 กุมภาพันธ์ประเด็นปัญหาว่าด้วยญัตติที่พาดพิงสถาบันที่ฝ่ายรัฐบาลหยิบมาเป็นเป้าโจมตีฝ่ายค้านนั้น เมื่อ ชวน หลีกภัย บรรจุญัตติไปแล้วก็ถือว่าจบกัน ใครไม่จบก็ไปใช้ช่องทางยื่นตีความผ่านศาลรัฐธรรมนูญเอาเอง

แน่นอนว่าถ้าเป็นไปตามช่องทางนี้ก็มีโอกาสที่การอภิปรายจะไม่ได้เกิดขึ้นตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ หากมีการยื่นเรื่องตีความก่อนสภาจะประชุมแล้วศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา ทว่าไม่ใช่มีเพียงแค่กรณีนี้ แต่ทางการข่าวฝ่ายค้านด้วยกันเองโดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่เป็นตัวหลักในการจะอภิปรายในประเด็นผู้นำเผด็จการดึงสถาบันมาปกป้องตัวเอง ก็ยังรู้สึกกังวลใจ ไม่ไว้วางใจนักการเมืองฝ่ายเดียวกัน ซึ่งน่าจะเป็นเพราะมีสัญญาณแปลกแปร่งบางอย่าง

ทั้งนี้ พบว่าในทางการเคลื่อนไหวว่าด้วยการต่อรองนั้นมีบุคคลอักษรย่อก.ไก่ มีบทบาทสำคัญต่อการประสานประโยชน์ให้กลุ่มการเมืองทุกฝ่าย ก็ยังคงทำหน้าที่ในการเคลียร์ประเด็นการถูกซักฟอกให้รัฐมนตรีบางราย อันอาจจะนำไปสู่การจงใจให้เกิดอุบัติเหตุไม่ได้อภิปรายใครบางคนเหมือนการซักฟอกครั้งที่ผ่านมา ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการยื่นหมูยื่นแมวว่าด้วยการซื้อข้อสอบจากเสือหิวจำนวนไม่น้อยในซีกของฝ่ายค้าน โดยที่ทางฝั่งของพรรคก้าวไกลนั้นไม่ได้มีปัญหาในเรื่องดังกล่าว

ต้องเข้าใจว่าการเมืองในภาคขาลงของฝ่ายกุมอำนาจ แม้จะทำตัวปากกล้าด้วยการดิสเครดิตฝ่ายตรงข้ามว่าไม่น่าจะมีข้อมูลทีเด็ดทีขาดอะไรมาทำให้เสนาบดีที่ถูกซักฟอกมีอันเป็นไปได้ แต่ก็เกิดอาการขาสั่นเพราะการลงทุนเพื่ออยู่ในอำนาจและครอบครองตำแหน่งนั้น ย่อมต้องมีการถอนทุนต่อให้จะแนบเนียนเซียนเหยียบเมฆขนาดไหน ก็ใช่ว่าจะไม่มีช่องโหว่ให้อีกฝ่ายหาหลักฐานได้ ดังนั้น วิธีที่ทำให้เบาใจสบายใจที่สุดคือต้องลงทุนเพิ่มซื้อข้อสอบ ส่วนข้อสอบจะรั่วหรือไม่ถ้าการอภิปรายเกิดขึ้นก็จะได้รู้กัน

Back to top button