“สธ.” ระวังเข้ม 6 เขตกทม. หลังพบคลัสเตอร์โรงงานเย็บผ้า ย่านภาษีเจริญ ติดเชื้อเพิ่ม
“สธ.” ระวังเข้ม 6 เขตกทม. หลังพบคลัสเตอร์โรงงานเย็บผ้า ย่านภาษีเจริญ ติดเชื้อเพิ่ม ห่วงกลุ่มเสี่ยงสูง ผู้ป่วยติดเตียง
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 95% มาจากจังหวัดสมุทรสาคร อีก 3.14% มาจากกรุงเทพฯ และ 1.2% มาจากจังหวัดอื่นๆ โดยรอบสัปดาห์นี้พบผู้ป่วยติดเชื้อใน 15 จังหวัด จากที่มีการระบาดระลอกใหม่ใน 63 จังหวัด
ทั้งนี้จะมีการเฝ้าระวังและคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกรวม 6 สำนักงานเขต ได้แก่ บางแค ภาษีเจริญ บางขุนเทียน จอมทอง หนองแขม และ บางบอน เนื่องจากพบผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและชุมชนใกล้เคียงในพื้นที่เขตภาษีเจริญ เป็นการระบาดระลอกใหม่ที่พบในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ยังไม่หลักฐานยืนยันว่าติดเชื้อไปยังโรงเรียน และระบบขนส่งสาธารณะ
“ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทั้ง 6 เขตต้องเพิ่มความระมัดระวังดูแลสุขภาพตัวเอง เช่น เวลาที่จะไปตลาดต้องสวมหน้ากาก” นพ.จักรรัฐ กล่าว
นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อในครอบครัว โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงสูง ผู้ที่ดูแลต้องมีความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เช่น กรณีผู้ป่วยติดเตียงที่มีโรคประจำตัวหลายโรคช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ และมีแรงงานเมียนมา 4 คนที่อาศัยอยู่ร่วมกันช่วยเหลือดูแล ไม่รู้ว่าติดเชื้อจากใคร แต่ในจำนวนนี้เคยมีประวัติเชื่อมโยงกับผู้ป่วยที่ตลาดคลองเตยก่อนหน้านี้ ส่วนรายละเอียดกำลังดำเนินการสอบสวนโรคเพิ่มเติม
สำหรับช่วงเทศกาลตรุษจีนขอแนะนำให้ผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน เลี่ยงเดินทางไปในพื้นที่ชุมชน, เปลี่ยนวิธีการแจกอั่งเปา, การเว้นระยะห่างในการรับประทานอาหารร่วมกันและงดดื่มสุรา, การเดินทางท่องเที่ยวต้องสวมหน้ากาก คำนึงถึงการเว้นระยะห่าง และเลี่ยงเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนแออัด
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขอยืนยันเรื่องวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้กับประชาชน ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อไปสู่ชุมชน โดยก่อนที่จะอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้นำมาใช้งานนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบคุณภาพอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพที่ยอมรับได้
นพ.ภาณุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมฯ ร่วมกับภาคีเครื่องข่ายได้ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพประชาชนตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.63-31 ม.ค.64 โดยผลสำรวจล่าสุดช่วงวันที่ 25-31 ม.ค.64 พบว่า การดูแลสุขภาพตัวเองตามหลักชีวอนามัยของประชาชนจะลดลงในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายไปในทางดีขึ้น โดยการสวมหน้ากาอยู่ที่ 93.7% ล้างมือ 88.4% กินร้อน 87.99% รักษาระยะห่าง 77.0% และจับหน้าจับ จมูก ปาก 73.2%
ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการที่จะฉีดวัคซีน เนื่องจากมีความเข้าใจถึงผลของการฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปยังคนอื่น การลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนให้เหตุผลว่ายังไม่มีความปลอดภัย กลัวผลข้างเคียง ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง มั่นใจป้องกันตัวเองได้ ไม่เชื่อว่าวัคซีนจะป้องกันได้ ซึ่งประเด็นเพล่านี้จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไป ส่วนแอปพลิเคชั่นหมอชนะและไทยชนะนั้นประชาชนส่วนใหญ่รู้จักดีว่าเป็นการแจ้งเตือนการติดเชื้อ โดยมีผู้ใช้งานอยู่ 50%