สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 5 ก.พ. 2564
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 5 ก.พ. 2564
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (5 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐ, การเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนต้านโรคโควิด-19 แม้ตลาดผิดหวังที่กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดก็ตาม
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,148.24 จุด เพิ่มขึ้น 92.38 จุด หรือ +0.30%, ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,886.83 จุด เพิ่มขึ้น 15.09 จุด หรือ +0.39% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,856.30 จุด เพิ่มขึ้น 78.55 จุดหรือ +0.57%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดขยับลงเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ (5 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังกับการเปิดเผยข้อมูลจ้างงานของสหรัฐที่อ่อนแอกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลยอดสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงของเยอรมนีถ่วงตลาดลงด้วย
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดทรงตัวที่ระดับ 409.54
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,659.26 จุด เพิ่มขึ้น 50.72 จุด หรือ +0.90%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,056.72 จุด ลดลง 3.57 จุด, -0.03% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,489.33 จุด ลดลง 14.39 จุด หรือ -0.22%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อวันศุกร์ (5 ก.พ.) โดยถูกกดดันจากการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นในอังกฤษ และนักลงทุนกังวลกับแนวโน้มเศรษฐกิจ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.ที่อ่อนแอกว่าคาด
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,489.33 จุด ลดลง 14.39 จุด หรือ -0.22%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 5 เมื่อวันศุกร์ (5 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบท่ามกลางความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำมันลดลงนั้น ได้ช่วยหนุนราคาน้ำมันขึ้นด้วย
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 62 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 56.85 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. 2563 และปรับตัวขึ้น 8.9% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 50 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 59.34 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค. 2563 และเพิ่มขึ้น 7.8% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (5 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อสัญญาทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนม.ค.
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 21.8 ดอลลาร์ หรือ 1.22% ปิดที่ 1,813 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ราคาทองยังคงปรับตัวลง 2% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 78.5 เซนต์ หรือ 2.99% ปิดที่ 27.019 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 30 ดอลลาร์ หรือ 2.7% ปิดที่ 1,133 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 45.60 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 2,326.30 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (5 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังกับการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสรัฐที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนม.ค.
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.52% สู่ระดับ 91.0480 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.43 เยน จากระดับ 105.52 เยน, อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2769 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2831 ดอลลาร์แคนาดา และเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ดอลลาร์อ่อนค่าสู่ระดับ 0.8995 ฟรังก์ จากระดับ 0.9039 ฟรังก์
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2042 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1966 ดอลลาร์, เงินปอนด์แข็งค่าแตะที่ระดับ 1.3728 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3674 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าสู่ระดับ 0.7668 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7601 ดอลลาร์สหรัฐ