พาราสาวะถี

ไม่ได้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายกับการที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียงข้างมาก 366 เสียงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เป็นการแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่ ตามมาด้วยเสียงค่อนขอดของส.ว.ลากตั้งเจ้าของญัตติอย่าง สมชาย แสวงการ ที่ย้อนถามว่า กลัวอะไรกันนักหนา ความจริงก็ควรจะต้องย้อนถามตัวเองมากกว่า ว่ากลัวอะไรกับการที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ปูนบำเหน็จให้พวกลากตั้งชูคอกันหน้าสลอนอยู่เวลานี้ โดยเฉพาะผู้พูดที่เลียท็อปบูธชนิดถวายชีวิตจนได้ดิบได้ดี


อรชุน

ไม่ได้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายกับการที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียงข้างมาก 366 เสียงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เป็นการแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่ ตามมาด้วยเสียงค่อนขอดของส.ว.ลากตั้งเจ้าของญัตติอย่าง สมชาย แสวงการ ที่ย้อนถามว่า กลัวอะไรกันนักหนา ความจริงก็ควรจะต้องย้อนถามตัวเองมากกว่า ว่ากลัวอะไรกับการที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ปูนบำเหน็จให้พวกลากตั้งชูคอกันหน้าสลอนอยู่เวลานี้ โดยเฉพาะผู้พูดที่เลียท็อปบูธชนิดถวายชีวิตจนได้ดิบได้ดี

ไม่ต้องบอกว่าเสียงที่ไปสมคบคิดกับ 250 ส.ว.ลากตั้งนั้นมาจากไหน ก็พรรคสืบทอดอำนาจที่ไม่อยากให้มีการแก้ไขนั่นแหละ การเตะถ่วงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนชัดว่า นโยบายเร่งด่วนว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจริงจังและจริงใจแค่ไหน ภาพตัดกันในวันเดียวกันกับที่แก๊งสืบทอดอำนาจพากันยกมือสลอน เพื่อให้ผ่านญัตติยื่นตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กับกฎหมายปฏิรูปตำรวจว่ากันว่าหายหัวกันเกลี้ยงสภา เมื่อฝ่ายค้านเสนอให้นับองค์ประชุม ประธานสภาลากตั้งที่ทำหน้าที่ก็รีบชิงปิดประชุมทันที

ไม่อยากนึกภาพต่อว่าพากันไปกินกล้วยกันจนหนำใจที่พากันเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ จนลืมไปว่า ยังมีกฎหมายสำคัญที่ถือเป็นภารกิจ ตั้งแต่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจมีหัวโขนเป็นหัวหน้าคสช. จนป่านนี้ก็ยังเดินไปไม่ถึงไหน หรือว่านี่คือความจงใจไม่อยากให้ทุกอย่างเดินหน้า เพราะการทำหน้าที่ของคนสีกากีหลังการรัฐประหาร โดยเฉพาะยุคนี้ก็ถือว่า เข้าตาผู้มีอำนาจไปเต็ม ๆ ยิ่งกับการจัดการพวกเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล

ดังนั้น จึงต้องซื้อใจกันไปก่อนในช่วงนี้ ตัดภาพเปรียบเทียบกับตำรวจเมียนมาที่เคลื่อนไหวต้านรัฐประหาร และปกป้องผู้ชุมนุม มันช่างเป็นภาพต่างกันราวฟ้ากับเหว ถ้าเปรียบเทียบกันว่า ประเทศหนึ่งเพิ่งเป็นประชาธิปไตย ขณะที่บางประเทศอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยมาช้านาน ก่อนหน้านั้นพอจะแยกออกว่าคือประเทศไทย มาถึงยุคนี้นอกจากจะไม่กล้าแสดงตัวว่าเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว ยังส่อแววว่า จะอับอายขายขี้หน้าประเทศที่เขาเพิ่งมีประชาธิปไตยอีกต่างหาก

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจกับการที่ 4 แกนนำราษฎร จะถูกคุมขังระหว่างรอพิจารณาคดี จากการถูกดำเนินคดีความผิดมาตรา 112 และ 116 โดยไม่ได้รับการประกันตัว ถือเป็นอำนาจศาลที่ก้าวล่วงไม่ได้ ที่เหลือก็ต้องจับตาต่อไปแกนนำคนอื่น ๆ ชะตากรรมคงไม่ต่างกัน ทว่าม็อบที่ถูกจุดขึ้นมาอีกรอบ เรียกน้ำย่อยเป็นน้ำจิ้มไปหนึ่งวันก่อนนัดจริง ที่จุดนัดหมายสกายวอล์คเอ็มบีเค ก็ถือว่าดุเดือด การตีหม้อไล่เผด็จการสร้างความปวดขมับให้กับตำรวจไม่ใช่น้อย

แน่นอนว่า การชุมนุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะลงเอยอย่างไร แต่นี่ คือความท้าทายใหม่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงรุมเร้ารัฐบาลที่มาควบคู่กับปมปัญหาวัคซีน หากม็อบจุดติดคนกลัวอดตายมากกว่าตายด้วยโควิดก็ถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาล การดำเนินคดีตามกฎหมายกับระดับแกนนำ ผ่านบทพิสูจน์มาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ระหว่างการมีแกนนำกับม็อบไร้แกนนำนั้น อย่างไหนที่สามารถควบคุมดูแลได้ง่ายกว่ากัน

วันนี้ การท้าทายและกระแสที่จะถาโถมเข้าใส่รัฐบาลไม่ได้มีเฉพาะม็อบที่เริ่มกลับมาเรียกระดมพล การเดินหน้ายื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาฐานความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททั้งหมด รวมถึงมาตรา112 ที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทีมยื่นต่อ ชวน หลีกภัย นั้น ถือเป็นสิ่งที่คนในซีกรัฐบาลจะต้องแสดงท่าทีอย่างระมัดระวัง ซึ่งก็จะมีกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านในเรื่องนี้เป็นแรงกดดันให้รัฐบาลต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใด หรือไม่คนเหล่านั้นก็จะนัดหมายรวมตัวกันแสดงพลังอีก

นั่นไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะมีกลุ่มผู้สนับสนุนออกมาชุมนุมสร้างความอุ่นใจต่อเสถียรภาพของตัวเอง เพราะภายใต้บริบทของการบังคับใช้กฎหมายที่ห้ามการชุมนุมในช่วงนี้ โดยที่เคร่งครัดกับฝ่ายต่อต้านอย่างเป็นด้านหลัก ทว่า กลับปล่อยให้อีกฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวได้ ย่อมจะตอบคำถามได้ยาก ไม่เหมือนสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าการโบ้ย หรือหลับหูหลับตาอ้างว่าสั่งการไม่ได้ ไม่ใช่ม็อบจัดตั้ง ไม่ได้เลือกปฏิบัติ แม้คนส่วนใหญ่จะไม่เชื่อ แต่ก็ยังพออ้อมแอ้มกันไปได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับการยื่นร่างขอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวของพรรคก้าวไกลนั้น ยังจะมีการยื่นร่างกฎหมายชุดที่เกี่ยวข้อง อาทิ ร่างแก้ไขพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ร่างแก้ไขพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ หลังจากพรรคได้ผ่านกระบวนการถกเถียง และมีการโหวตภายในอยู่หลายรอบ โดยใช้เวลาในกระบวนการดังกล่าวประมาณ 6 เดือน เพื่อแก้ไขให้ชุดกฎหมายที่ว่าเป็นกฎหมายคุ้มครอง และประกันเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ตามหลักการขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย

การใช้แนวทางเช่นนี้ ย่อมหมายถึงการมีแนวร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะคณะราษฎรเป็นหลังพิง ผิดกับฝ่ายกุมอำนาจที่แสดงออกให้เห็นแล้วว่า พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อที่จะไม่ให้การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ที่องคาพยพของขบวนการสืบทอดอำนาจยกร่างขึ้นได้เดินไปสู่เป้าหมายได้ ปลายทางย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้ง และแนวโน้มของการชักธงรบจากฝ่ายตรงข้ามก็เด่นชัดยิ่งว่าพร้อมที่จะแตกหัก ยังไม่นับรวมกลุ่มปัญหาความเดือดร้อน  ต่าง ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะมีแนวร่วมแนวรบเกิดขึ้นอีกกี่มากน้อย

ขณะเดียวกัน ศึกซักฟอกที่รออยู่ การเล่นเกมว่าด้วยการตีปมญัตติของพรรคฝ่ายค้าน ไม่มีใครเถียงว่า เป็นสิทธิของผู้สนับสนุนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่จะยื่นตีความตามแท็คติกที่ได้วางไว้ ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่า การอภิปรายจะไม่เกิดขึ้น เพราะอ่านใจจากประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จอมหลักการจะใช้เวทีนี้เป็นการสั่งสอนฝ่ายอำนาจสืบทอดที่หักหน้าพรรคเก่าแก่ ทั้งส่งคนลงชิงชัยเลือกตั้งซ่อมส.ส.ที่นครศรีธรรมราช และการส่งตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ญัตติกล่าวหาผู้นำใช้สถาบันมาสร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายซักฟอกกับคนที่จะต้องตอบต้องรับผิดชอบกันเอาเอง

Back to top button