พาราสาวะถีอรชุน

ออกอาการหงุดหงิดหัวใจฟาดงวดฟาดงาแทบจะทุกวันตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ไม่รู้เป็นเพราะจะต้องมีงานงอกสรรหาคนมานั่งเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จำนวน 21 คนหรือเปล่า แต่ก็ไม่น่าจะใช่ อย่างที่รู้กันงานนี้ถ้าไม่มีคำสั่งให้คว่ำร่างฉบับดอกเตอร์ปื๊ด คงไม่ได้เห็นคะแนนเสียงของนายทหาร-ตำรวจชั้นนายพลทั้งหลายเทกลับมาในฝั่งไม่รับร่างอย่างแน่นอน


 ออกอาการหงุดหงิดหัวใจฟาดงวดฟาดงาแทบจะทุกวันตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ไม่รู้เป็นเพราะจะต้องมีงานงอกสรรหาคนมานั่งเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จำนวน 21 คนหรือเปล่า แต่ก็ไม่น่าจะใช่ อย่างที่รู้กันงานนี้ถ้าไม่มีคำสั่งให้คว่ำร่างฉบับดอกเตอร์ปื๊ด คงไม่ได้เห็นคะแนนเสียงของนายทหาร-ตำรวจชั้นนายพลทั้งหลายเทกลับมาในฝั่งไม่รับร่างอย่างแน่นอน

เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงสันนิษฐานว่าท่านผู้นำคงจะไม่พอใจต่อท่วงทำนองของนักการเมืองที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นเรื่องที่หัวหน้าคณะรัฐประหารไม่ชอบให้ใครมาตำหนิติติง ยิ่งมีเรื่องของการถอดยศ ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเกี่ยวข้องเลยรู้สึกเหมือนถูกลองของกับอำนาจมาตรา 44 จึงยิ่งต้องไม่พอใจหนักข้อเข้าไปอีก

จากที่เคยมองว่ามาตรา 44 คือยาวิเศษสำหรับหัวหน้าคสช. ดูเหมือนว่าน่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะล่าสุดบิ๊กตู่ยืนยันหากเขียนรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองได้จะมีแค่ 5 มาตรา โดยจะบรรจุเอามาตรา 44 เข้าไปด้วย กลายเป็นว่าติดใจในอำนาจครอบจักรวาล ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะกับการถอดยศที่มีการคำถามเรื่องความเหมาะสมนั้น ท่านผู้นำก็ยังไม่สะทกสะท้านใดๆ

อย่างไรก็ตาม การกล่าวหาโจมตีนักการเมืองว่าเป็น 1 ในสาเหตุที่ทำให้สปช.ต้องตัดสินใจคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีการตอบโต้มาจาก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยมองว่า บิ๊กตู่มีข้อเสียคือด่านักการเมืองและพรรคการเมืองตลอดเวลา จากเดิมที่ด่าเช้า เที่ยง เย็น มาตอนนี้เพิ่มก่อนนอนเข้าไปอีก

ที่จริงทุกอาชีพมีทั้งคนดีและคนไม่ดี อย่าเหมารวมถ้านักการเมืองเลวหมดก็อย่ามีการเลือกตั้ง เพราะระบอบประชาธิปไตยต้องอยู่คู่กับตัวแทนที่ประชาชนเลือก ไม่เช่นนั้นก็นำประเทศออกจากระบอบประชาธิปไตยเข้าสู่ระบบทหารแบบพม่า ก่อนที่จะย้ำว่า ประเทศไทยที่มีความเจริญก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะมีนักการเมืองที่ดี มีความซื่อสัตย์สุจริต

ความจริงแล้วหากไม่อคติจนเกินไป ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องยอมรับว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีแต่นักการเมือง พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ถูกตราหน้าว่าเป็น“ตัวสร้างปัญหา” แม้แต่อดีตสมาชิกสปช.หลายคนก็ไม่เห็นด้วย ทั้งประเด็นคปป.ที่ชัดเจนว่าเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจมหาศาล เป็นรัฐบาลซ้อนรัฐ หรือจะพูดให้ชัดก็คือเป็นการรัฐประหารโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั่นเอง

ไหนยังจะมีประเด็นว่าด้วยนายกรัฐมนตรีคนนอก ส.ว.ลากตั้ง 123 คนที่จะเลือกโดยครม.ชุดปัจจุบัน รวมไปถึงระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่ต้องการทำให้รัฐบาลในอนาคตอ่อนแอ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นการนำพาประเทศไทยกลับเข้าไปสู่วังวนแห่งความขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองเหมือนเดิม เป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ไร้ค่า เสียของ

ทั้งที่ หากอยากให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแท้จริง ผู้มีอำนาจควรที่จะเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แน่นอนว่า กลุ่มความขัดแย้งนั้นได้บทเรียนมาแล้วจากการที่ไม่ยอมกันจนนำพาประเทศมาถึงจุดนี้ หากมีการเปิดเวทีรับฟังจริงเชื่อได้เลยว่า ทุกฝ่ายจะร่วมแสดงความคิดเห็นกันอย่างสันติ

เหมือนอย่างที่ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.พยายามตอกย้ำมาโดยตลอด แม้คนเสื้อแดงและม็อบกปปส.ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ อาจดูจะไม่กินเส้นกัน แต่นั่นเป็นเพียงความคิดเห็นที่แตกต่างเท่านั้น ไม่ใช่ความแตกแยกจนนำไปสู่การเข่นฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่ง หากมีพื้นที่ซึ่งจะต้องแสดงความเห็นเพื่อนำพาประเทศชาติไปสู่ความสงบสุข ทุกฝ่ายพร้อมจะให้ความร่วมมือ

แต่เมื่อฝ่ายผู้มีอำนาจยังเชื่อน้ำคำของฝ่ายความมั่นคงที่รายงานโดยตลอดว่า สถานการณ์ยังไม่ปกติ จะปล่อยให้ประชาชน คนทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการที่จะสร้างความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ เช่นนั้นก็ไม่มีทางที่ทุกอย่างจะเดินไปข้างหน้าได้ เพราะข้อเท็จจริงก็คือ ความสงบเงียบที่เห็นและเป็นอยู่เป็นความสงบจากอำนาจพิเศษ ซึ่งมีคำถามว่า จะต้องบังคับใช้ไปอีกนานเท่าไหร่

ไม่ใช่แค่คนส่วนใหญ่จะไม่ยอมรับเท่านั้น มันรวมไปถึงท่าทีการตั้งข้อรังเกียจของต่างชาติด้วย เมื่อเลือกที่จะเดินเส้นทางนี้ ก็ต้องยอมรับความเสียหายที่จะตามมา ถ้าประเมินเบื้องต้นต้องถามไปยังบิ๊กตู่ว่า การล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด เราต้องสูญเสียเงินงบประมาณไปจากเรื่องนี้จำนวนเท่าไหร่ เช่นเดียวกันกับผลงานของสปช.ที่สิ้นสภาพไป

เหล่านี้คือเม็ดเงินที่ไม่ควรจะสูญเสีย ไม่ใช่เพราะว่านักการเมืองกดดัน ประชาชนแสดงการไม่ยอมรับ หากแต่มันเกิดจากการเขียนกฎหมายที่ตั้งใจจะไม่ให้เป็นประชาธิปไตย ย่อมไม่มีใครทำใจให้มันผ่านไปได้ ขณะที่ผลงานของสปช.ถามว่าเวลา 11 เดือนที่ผ่านไปนั้น มีการตั้งคณะกรรมาธิการมาสารพัดชุด แต่ไม่เห็นรูปร่างว่าจะปฏิรูปอะไรกันได้บ้าง

อย่างเช่นที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ ได้วิเคราะห์แนวทางและงบประมาณที่สปช.ใช้ไป โดยพบว่า หลักคิดมีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นด้วยข้อเสนอชนิดครอบจักรวาล 505 ข้อ แต่เป็นเบี้ยหัวแตก ที่ปฏิบัติไม่ได้และไม่มีอะไรใหม่ ทั้งยังขาดรายละเอียดที่ชัดเจน ส่วนใหญ่เน้นระบบราชการ เสนอตั้งหน่วยงานใหม่มากกว่า 100 หน่วยงาน และเสนอร่างกฎหมายใหม่นับร้อย ส่วนข้อเสนอระยะเวลาปฏิรูปประเทศนานถึงปี 2575

ขณะที่เม็ดเงินที่ใช้ไปในห้วงระยะเวลา 11 เดือนของสปช.นั้นสูงถึงกว่าพันล้านบาท โดยที่มีสมาชิกบางคนยังเข้าใจผิดคิดว่างานหลักมีแค่การรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น อันจะเห็นได้จากการประกาศนำเงินไปคืนหลังร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ สรุปแล้วผ่านไปไม่ถึงปีผลของงาน “เสียของสูญเปล่า” เมื่อรวมกับผลงานชิ้นโบว์ดำของกรรมาธิการยกร่างฯแล้ว ถามว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ

Back to top button