คำสารภาพจาก ‘ชอง’
นายชอง เช กุน นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ประกาศจะฉีดวัคซีนโควิดล็อตแรกให้ประชาชนในวันที่ 26 ก.พ.สัปดาห์หน้า ตั้งเป้าภายในไตรมาส 1 ปีนี้ จะฉีดวัคซีนให้ประชากรได้ 1.3 ล้านราย แต่ก็ยอมรับว่า “ล่าช้า” เพราะกังวลในประสิทธิภาพของวัคซีน
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
นายชอง เช กุน นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ประกาศจะฉีดวัคซีนโควิดล็อตแรกให้ประชาชนในวันที่ 26 ก.พ.สัปดาห์หน้า ตั้งเป้าภายในไตรมาส 1 ปีนี้ จะฉีดวัคซีนให้ประชากรได้ 1.3 ล้านราย แต่ก็ยอมรับว่า “ล่าช้า” เพราะกังวลในประสิทธิภาพของวัคซีน
รัฐบาลเกาหลีใต้ มีแผนจัดหาวัคซีนภายในปีนี้รวมทั้งสิ้น 56 ล้านโดสจากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่ โคแวกซ์ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จะเห็นได้ว่า ไม่มีใครเขาผูกขาดซื้อวัคซีนเพียงเจ้าเดียว
สำหรับเมืองไทยเรา นอกจากยังซมพิษไข้โควิด ยังไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวันแล้ว ก็ยังมีข่าวคึกโครมกับโครงการ “เราชนะ” ซึ่งผมขอบอกตามตรงเลยก็ได้ว่า ไม่อยากเห็นภาพคนที่ไม่มีทั้งสมาร์ตโฟนและแอปพลิเคชัน ไปเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อจะไปลงทะเบียนรับเงิน 7 พันบาทจากรัฐบาลเลย
และก็ไม่อยากเห็นภาพ “ยายสา” ที่มาเข้าคิวรอลงทะเบียน ระร่ำระลักด้วยน้ำตาว่า เจ้าหน้าที่แบงก์ “ดุเหมือนหมา” รู้สึกน้อยใจมาก
ถ้าเร่งคืนอาชีพให้เขา เรื่องอย่างนี้ ปรากฏการณ์อย่างนี้ ที่ผู้คนต้องมากระเสือกกระสนดิ้นรนรับเศษเงินสงเคราะห์ ก็คงจะไม่เกิด!
อีกอย่างหนึ่ง รัฐก็มีฐานข้อมูลคนจนอยู่แล้วนี่ ทำไมไม่ใช้วิธีใส่เงินลงไปในบัญชีเงินฝากเลยล่ะ!
คนแก่ร้องไห้ก็ดี คนรุ่นปู่ย่าตายาย ต้องให้ลูกหลานจูงมือมาเข้าแถว หรือหามคนแก่ติดเตียงเข้ามาลงทะเบียน มันเกิดจากห่วงโซ่สำคัญ ซึ่งลูกหลานที่เคยเลี้ยงดู กลายเป็นคนตกงานหรือโดนลดทอนเงินเดือนและผลประโยชน์ จากผลกระทบโควิด ที่รัฐมุ่งเอาแต่การควบคุม แต่ไม่ให้น้ำหนักในการดูแลเศรษฐกิจเอาเสียเลย
ที่ผ่านมา ล็อกดาวน์ครั้งที่ 1 สู้โควิดก็ดูจะดีอยู่หรอก ตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยลง ๆ จนกระทั่งเป็น 0 มาเป็นแรมเดือน แต่นั่นก็เป็นเพราะเรายังไม่ได้ตรวจสอบเชิงรุก และมีตัวเลขการแพร่เชื้อที่หลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่ตามบ่อน และการเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายตามตะเข็บชายแดน และก็นำไปสู่การล็อกดาวน์ครั้งที่ 2 ห้ามโน่นห้ามนี่ เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเป็น 800-900 ราย
เศรษฐกิจยิ่งฉิบหายยับเยินไม่มีชิ้นดี!
แท้จริงแล้วโควิด ก็ต้องอยู่กับเราไปตลอดแหละครับ หากควบคุมมากเกินไป เศรษฐกิจก็พัง แต่หากควบคุมหย่อนยานเกินไป ก็จริงว่าโควิดจะระบาดหนัก ก่อวิกฤตต่อสุขภาพและชีวิตคนในชาติ
มีตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจมากครับ ก็เป็นตัวเลขจากศบค.ที่แถลงเป็นรายวันนั่นแหละครับ ข้อมูลเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ก.พ. 64 รายงานผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 25,111 ราย จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 23,946 ราย คิดเป็นร้อยละ 95.36
แสดงว่าอะไรครับ ก็แสดงว่า เป็นแล้วก็หายได้ถึงกว่าร้อยละ 95 และก็ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่า มีแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพในระดับสูงอยู่แล้ว
ยิ่งตัวเลข ผู้เสียชีวิตสะสม จากข้อมูลวันที่ 18 ก.พ. มีจำนวนอยู่ที่ 82 ราย แสดงว่าอัตราผู้เสียชีวิตแค่ร้อยละ 0.32 แสดงอัตราส่วน 10,000:32 คนเท่านั้น
ดังนั้น จำนวนผู้หายป่วยก็ดี จำนวนผู้เสียชีวิตก็ดีที่น้อยมาก จึงเป็นที่มาของความคิดทบทวนว่า เราเอาความมั่นคง นำการแพทย์ และใส่ใจในผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยเกินไปหรือเปล่า
ไม่ใช่ถึงขนาด “ต้องถอดแมสก์ ทิ้งเจล” หรอกครับ “แมสก์” ก็ยังต้องใส่ “เจล” ก็ต้องใช้ล้างมือให้เป็นนิสัย “ผู้ติดเชื้อ” ก็ต้องได้รับการกักกัน และ “การตรวจสอบเชิงรุก” ก็ต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง
ขออย่างเดียว อย่าได้ใช้ “ยาแรง” ทำลายชีวิตปกติ และทำลายอาชีพปกติของประชาชนอีกต่อไปเลย
สถานการณ์โควิดและมาตรการรับมือผลกระทบในระดับโลก เกิดการคลี่คลายตัว และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมามากแล้ว วัคซีนที่นำมาใช้ก็พิสูจน์ในระดับหนึ่งแล้วว่า ใช้ได้อย่างหลากหลายสำนัก และใช้ฉีดเข็มที่ 1 ยี่ห้อหนึ่ง ฉีดเข็มที่ 2 ใช้อีกยี่ห้อหนึ่งก็ยิ่งดี มีผลแล้วต่อการลดอัตราการระบาด ลดความรุนแรงและการเสียชีวิต รวมถึงการสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่”
เว้นแต่ในประเทศเราเองเท่านั้น ที่ยืนนิ่งอยู่กับที่ ท่ามกลางพลวัตโลก
วัคซีนคือชีวิตใหม่ และคือความหวังเดียวจะพลิกฟื้นชีวิตตลอดจนสัมมาชีพ ให้กลับคืนสู่ปกติ ขอความกรุณาอย่าได้กลืนกินความหวังของประชาชนเลย
เรื่องราวที่ผ่านมา ไม่ว่า “ไม่อยากเห็นคนไทยเป็นหนูทดลอง” เทความหวังไปที่วัคซีนเจ้าเดียว ด้อยค่าวัคซีนเจ้าอื่น หรือรอให้ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ซื้อเสียก่อนเพื่อบริโภคของถูกนั้น โลกพิสูจน์แล้วว่า ล้วนเป็นตรรกะของผู้นำที่ขาดความรู้ และกลบเกลื่อนการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพ
อย่าว่าแต่คำ “ขอโทษ” หรือ “เสียใจ” เลย แม้แต่ “คำสารภาพ” ก็ไม่มีทางได้เห็นเหมือนชอง เช กุน ผู้นำเกาหลีใต้