“วิษณุ” ชี้ศาลรับวินิจฉัยตีความ ปมอำนาจรัฐสภา ไม่กระทบเดินหน้าแก้รธน.
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยตีความปมอำนาจรัฐสภา ไม่กระทบกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ย้ำ ส.ส.ไม่ต้องกังวล
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับวินิจฉัยเรื่องอำนาจและหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเดินต่อไปตามปกติทุกอย่าง ไม่น่าจะสร้างความกังวลให้กับส.ส. เพราะถึงแม้ว่าลงมติวาระ 3 แล้ว รัฐธรรมนูญก็ยังไม่มีผลอยู่ดี ยังต้องรอไปลงประชามติ และต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันอีกครั้งก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้นระยะเวลายังมีอะไรที่ต้องทำกันอีกมาก
ทั้งนี้ หากภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมิชอบ จะถือว่าสภาฯ ได้ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนแล้วหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า จะพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะถ้าศาลวินิจฉัยว่าไม่ถูกต้อง ก็ต้องเลิก แต่ตราบใดที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ตัดสิน กระบวนการก็ยังดำเนินการต่อไป รอจนกระทั่งสุดท้ายที่จะไปบรรจบกันอยู่ดี เพื่อตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป ส่วนการลงมติของ ส.ส.ก็ไม่ต้องกังวล เพราะไม่มีความผิดใดๆ
ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลใน 3 วันที่ผ่านมา ต้องให้ประชาชนเป็นผู้วิจารณ์ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่ควรพูดอะไรกันทั้งนั้น เพราะพูดกันในที่ประชุมสภาฯ มาพอแล้ว และที่ฝ่ายค้านจะนำหลักฐานการอภิปรายไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น
นายวิษณุ กล่าวว่า ดูจากหลักฐานที่นำมาอภิปรายแล้วคงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ไม่ทราบว่ามีเบื้องหลังอะไรหรือไม่ที่จะไปยื่นกับ ป.ป.ช. เช่น อาจจะมีหลักฐานอื่นที่ชัดเจนมากกว่า ถ้าอย่างนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้านำเรื่องที่อภิปรายในสภาฯ ไปบอกกับป.ป.ช.หรือศาลคงไม่ได้ คิดว่าฝ่ายค้านคงมีอะไรในมือ แต่ตนไม่ทราบ ถือเป็นธรรมดาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าเมื่อจบลงแล้ว ฝ่ายบริหารจะต้องทำอะไรบางอย่าง ฝ่ายค้านจะต้องไปทำอะไรต่อ อันนี้เป็นสิ่งที่คาดหมายกันอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตก
อนึ่ง วานนี้ (18 ก.พ.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับวินิจฉัยกรณีประธานรัฐสภา (ผู้ร้อง) ส่งเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้เสนอ โดยให้ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์, นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และ นายอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนด โดยให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 3 มี.ค. 64 และนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 4 มี.ค.64
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ซึ่งการยื่นคำร้องต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 7 (2) คือ ต้องเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว และในกรณีที่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับหน่วยงานใด ให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้มีสิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่าในคราวประชุมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 ก.พ.64 ที่ประชุมรัฐสภาเห็นว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาและมีมติโดยเสียงข้างมากให้ส่งปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิฉัยตามรัฐธรามนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) กรณีจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2661 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 7 (2) ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย