สกัดแก้รัฐธรรมนูญ ?

รัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 ในวันที่ 24-25 ก.พ. โดยยังไม่รู้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะอนุญาตให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องรอศาลนัดประชุมวันที่ 4 มี.ค.แล้วนัดวินิจฉัย


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

รัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 ในวันที่ 24-25 ก.พ. โดยยังไม่รู้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะอนุญาตให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องรอศาลนัดประชุมวันที่ 4 มี.ค.แล้วนัดวินิจฉัย

นี่เป็นแรงกดดันทางการเมืองระลอกใหม่ หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งฝ่ายค้านเชือดรัฐบาลเหวอะหวะ ซ้ำยังมีไซด์เอฟเฟค พรรคภูมิใจไทยกล้ามใหญ่ไม่พอใจ 7 ส.ส.พลังประชารัฐ ไม่โหวตให้กล่องดวงใจ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

ไม่ทราบเหมือนกันว่าภูมิใจไทยเต้นเพราะโดนเหยียบเท้าเรื่องที่ดินรถไฟเขากระโดง หรือล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.28 แสนล้าน

สถานการณ์การเมืองวันนี้ ไล่ลำดับภาพแต่ละด้านคือ อำนาจรัฐกำลังกดดันมุ่งสยบม็อบราษฎร ที่ไปจนสุดเพดานเมื่อปลายปี 63 แล้วทำอะไรอำนาจที่ใหญ่โตมหึมาไม่ได้ รัฐมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่ท้อ เลิกต่อสู้ ยอมจำนน กลับไปทำมาหากินเอาตัวรอด เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นคนชั้นกลางในเมือง

แต่ความย่ำแย่ในการบริหาร ทั้งเศรษฐกิจ โควิดรอบสอง มาจนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้พลังนอกสภายังเข้มแข็งในระดับหนึ่ง สามารถปักหลักรอแรงเหวี่ยงกลับ จากวิกฤตเศรษฐกิจ การทุจริต ความเหลื่อมล้ำ การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือการทำอะไรไม่แยแสใครของผู้กุมอำนาจ

ลองคิดดูว่าในสถานการณ์อย่างนี้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ จะเกิดอะไรขึ้น ที่รัฐสภายกร่างกันมาว่าจะแก้มาตรา 256 เลือก สสร.มายกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ล้มครืน

แน่ละ ศาลอาจไม่วินิจฉัยอย่างนั้น แต่ไล่ดู “สารตั้งต้น” มาจากไพบูลย์ นิติตะวัน + สมชาย แสวงการ ผนึก ส.ส.พลังประชารัฐ กับ 250 ส.ว.โหวตให้ส่งศาลวินิจฉัยก่อน แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่

โดยอ้างความเห็นกฤษฎีกา ว่าศาลเคยขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 มาแล้ว แม้คนละฉบับกัน ก็ควรส่งศาลก่อน (ติ๊กไว้ด้วยว่า ประธานกฤษฎีกาคณะที่ 1 คือมีชัย ฤชุพันธ์ เลขากฤษฎีกาคือ ปกรณ์ นิลประพันธ์ กรธ. ทายาทมีชัย)

อันที่จริง 250 ส.ว.จะคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเองก็ง่ายมาก เพราะโหวตไม่ถึง 1 ใน 3 ก็คว่ำแล้ว งั้นทำไมต้องส่งศาล ก็เพราะถ้าต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง ม็อบคงลุกฮือ ไล่ 250 ส.ว.ตู่ตั้ง ส่งศาลดีกว่า ถ้าศาลชี้ว่าแก้ไม่ได้ แล้วประชาชนฮือต้าน ก็อ้างได้ว่าไม่เคารพกฎหมาย

พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องมือเล่นตามเกม 250 ส.ว.+ พปชร. เพราะศาลอาจวินิจฉัยให้แก้ได้เช่นกัน เพียงแต่เมื่อเห็นศาลเรียก มีชัย ฤชุพันธ์, อุดม รัฐอมฤต, สมคิด เลิศไพฑูรย์, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ทำคำชี้แจง หลายคนก็วิตกว่า กรธ.มีชัยจะสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญตัวเองทั้งฉบับหรือ

ยิ่งกว่านั้นเมื่อไปค้นดู “ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” ที่ กรธ.มีชัยทำไว้ ก็พบคำอธิบายมาตรา 255 ว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกระทำไม่ได้”

ซึ่งอ้างเหลวไหลแบบศรีธนญชัย เพราะที่ห้ามแก้จริง ๆ มี 2 มาตราคือมาตรา 1 เป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวแบ่งแยกมิได้ มาตรา 2 ปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

รัฐธรรมนูญ 2540 ร่างใหม่ทั้งฉบับก็ไม่ได้แก้ ตั้ง สสร.ยังไง ก็ไม่มีใครแก้ 2 มาตรานี้ แต่ กรธ.กลับอ้างว่า เมื่อห้ามแก้ 2 มาตรา=ห้ามแก้ทั้งฉบับ

การส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความจึงสร้างความอึมครึมทางการเมือง เป็นเงื่อนไขเขย่าอำนาจ มิพักต้องกล่าวว่าถ้าศาลห้ามแก้ การเมืองจะร้อนแรงเพียงไร

แม้มีความเป็นไปได้ที่ศาลจะบอกว่าแก้ได้ เพราะครั้งนี้ไม่ได้แก้หมวด 1 หมวด 2 แต่ในทางหลักการก็กลายเป็นยกอำนาจให้ศาล มีอำนาจห้ามรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ และจะไม่มีทางแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้เลย

จนกว่าจะเกิดรัฐประหารหรือเกิด Chaos อย่างร้ายแรง

Back to top button