เซี่ยงไฮ้ ซินโดรมพลวัต2015
สัปดาห์นี้ที่กำลังจะจบสิ้นลง ความผันผวนของดัชนีตลาดหุ้นโตเกียว ทั้ง นิกเกอิ และ TOPIX ได้ทำให้เกิดคำถามใหม่ว่า ตลาดหุ้นแห่งนี้ กำลังติดโรคที่เรียกกว่า “เซี่ยงไฮ้ ซินโดรม” กันอีกแห่งแล้วหรืออย่างไร
สัปดาห์นี้ที่กำลังจะจบสิ้นลง ความผันผวนของดัชนีตลาดหุ้นโตเกียว ทั้ง นิกเกอิ และ TOPIX ได้ทำให้เกิดคำถามใหม่ว่า ตลาดหุ้นแห่งนี้ กำลังติดโรคที่เรียกกว่า “เซี่ยงไฮ้ ซินโดรม” กันอีกแห่งแล้วหรืออย่างไร
ดัชนีความผันผวนหรือ Volatility Index ที่เหวี่ยงตัวแรงมากระหว่างวัน และข้ามวัน ของดัชนีนิกเกอิ (ตามกราฟประกอบ) ชวนให้เข้าใจอย่างนั้นไม่ใช่น้อย ทั้งที่รายละเอียดของพฤติกรรมและโครงสร้างของนักลงทุนใน 2 ตลาด มีความแตกต่างกันอย่างมาก
ดังที่ทราบกันดี การเหวี่ยงตัวของดัชนี SSEC ของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ที่เคยได้ชื่อว่า เป็นดัชนีที่มีค่าพี/อีต่ำที่สุดในภูมิภาค เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นขาขึ้นรุนแรงต่อเนื่องไม่มีหยุดในช่วงเวลานานถึง 6 เดือนเศษ ตั้งแต่ดัชนีระดับเริ่มต้นทะยานที่ระดับ 2,000 จุดจนถึงจุดสูงสุดที่ระดับ 5.2 พันจุดในต้นเดือนมิถุนายน หรือขึ้นรวมประมาณ 150% ก่อนที่จะร่วงลงมาแรงต่อเนื่องประมาณ 40% จนถึงจุดต่ำสุดในเดือนกรกฎาคมที่ระดับประมาณ 2,750 จุด ได้ทำให้ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้มีพฤติกรรมเสมือนบ่อนการพนันใหญ่ที่สุดในโลก จนทางการจีนต้องเข้ามาแทรกแซงสารพัดอย่างผิดธรรมชาติจนถึงทุกวันนี้
การทะยานขึ้นที่รุนแรง และร่วงลงในระดับเดียวกัน ของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ และส่งผลให้เนื่องมายังตลาดหุ้นฮ่องกงด้วย มีคำอธิบายว่าในช่วงแรกของขาขึ้นที่ผิดปกตินั้น เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1) การเคลื่อนย้ายทุนเก็งกำไรจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกควบคุมด้วยมาตรการของทางการจีนหลายรูปแบบของผู้มีเงินออมจีน มาสู่ตลาดทุนโดยตรง 2) การร่วมโหนกระแสความมั่งคั่งของกองทุนต่างชาติทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่พากันย้ายทุนจากตลาดอื่นในเอเชียและยุโรปมายังจีนและฮ่องกง
คำอธิบายดังกล่าว มีข้อมูลสนับสนุนมากทีเดียว แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ จำนวนนักลงทุนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้นั้น เป็นรายย่อยมากถึง 80% จากจำนวนนักลงทุนที่เปิดบัญชีทั้งหมด 90 ล้านบัญชี ซึ่งมีสัดส่วนบัญชีซื้อขายย่อยที่ 30 ล้านบัญชี โดยจำนวนนี้เป็นนักลงทุนหน้าใหม่ (rookie investors) ที่ดาหน้ากันเข้ามาเปิดบัญชีใหม่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2558 นี้ มากถึงเฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 4 ล้านบัญชี ส่งผลให้มูลค่าซื้อขายประจำวันของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้แซงหน้าตลาดหุ้นนิวยอร์กประมาณ 3 เท่า เป็นอันดับ 1 ของโลก
พลังขับเคลื่อนสำคัญของนักลงทุนในตลาดเซี่ยงไฮ้ที่ขาดประสบการณ์ในการลงทุน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หุ้นจะทะยานขึ้นเพราะนักลงทุนซื้อขายหุ้นในลักษณะ “ปาเป้า” ไม่ได้ใส่ใจกับพื้นฐานของราคาหุ้นแต่อย่างใด
ร้ายไปกว่านั้น ยอดตัวเลขการซื้อขายด้วยบัญชีมาร์จิ้นของตลาดเซี่ยงไฮ้นั้นเพิ่มขึ้นมากกว่าตัวเลขสัดส่วนนักลงทุนเสียอีกเพราะเพิ่มขึ้นมากถึง 10 เท่า หรือ 1,000% ซึ่งประเมินแล้วมีบัญชีมาร์จิ้นทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย รวมกันมากกว่า 10 เท่าของเงินต้นของนักลงทุนแต่ละคน โดยเฉพาะตัวเลขซื้อขายผ่านบัญชีนี้ในวันพฤหัสบดีมากถึง 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 60% ของมูลค่าซื้อขายรวมทั้งตลาด
ตลาดที่เต็มไปด้วยนักลงทุนรายย่อย (retail investors) ย่อมจะผันผวนง่ายเนื่องจากขาดสมดุลของโครงสร้างนักลงทุน เพราะเปรียบได้กับการจับปูใส่กระด้งนั่นเอง เพราะความไร้กติกาทั้งขาขึ้นและขาลงของตลาดเกิดขึ้นได้ง่ายมาก เมื่อเทียบกับตลาดที่มีสัดส่วนของนักลงทุนสถาบัน (wholesale investors)
ในทางกลับกัน เมื่อตลาดเริ่มเข้าสู่ขาลงรุนแรง ตัวการสร้างปัญหากลับเป็นการแทรกแซงของรัฐจีนที่สะเปะสะปะ และไม่คำนึงถึงธรรมชาติของตลาดหุ้น เพราะความหวาดกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมจากวิกฤตฟองสบู่ของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ในปี 2550 (ค.ศ. 2007) ที่ทำให้ ดัชนีร่วงต่อเนื่องยาวนาน 6 เดือน ถึง 75% จากระดับเหนือ 6,000 จุด มาอยู่ใต้ 1,500 จุด
การแทรกแซงอย่างผิดธรรมชาติของหน่วยงานรัฐจีนหลายแห่งพร้อมกัน ทำให้ตลาดหุ้นจีนช่วงขาลง มีปัญหาไม่รู้จบ และเรื้อรัง จนนักลงทุนต่างชาติมองว่า ไม่คุ้มความเสี่ยง เนื่องจากไม่สามารถประเมินทิศทางตลาดได้ เนื่องจากสัญญาณเทคนิค ไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
สถานการณ์ของตลาดหุ้นโตเกียวต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เพราะในเชิงโครงสร้างของนักลงทุน สัดส่วนเม็ดเงินในกำมือของนักลงทุนสถาบัน มีมากพอหรือมากกว่ารายย่อย เนื่องจากรายย่อยญี่ปุ่นนั้นนิยมลงทุนผ่านนักลงทุนสถาบันกองหรือลงทุนทางอ้อมผ่านสถาบันการเงินอย่างบริษัทประกันชีวิต หรือ อย่างน้อยก็ไพรเวทฟันด์ ทำให้ความผันผวนของตลาดในอดีต มีไม่มากนัก และไม่ต้องพูดถึงการซื้อขายหุ้นด้วยบัญชีมาร์จิ้น เพราะนักลงทุนญี่ปุ่นนั้น ได้ผ่านประสบการณ์ร้อนและหนาวโชกโชนมายาวนานนับร้อยปีทีเดียว
ประการต่อไป การรับมือของตลาดหุ้นญี่ปุ่นและหน่วยงานรัฐต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาด ไม่ได้เป็นการเข้าแทรกแซงโดยตรงแบบจีน แต่อาศัยศิลปะที่แนบเนียนเข้ามามีส่วนสนับสนุนทางอ้อม ผ่านสถาบันตลาดทุนและตลาดเงินสินเชื่อชนิดที่ไม่ให้สูญเสียบรรยากาศที่ดีของการลงทุนในตลาด
แรงเหวี่ยงที่ไหวเอนไปมายิ่งกว่าพายุหมุนของตลาดหุ้นโตเกียว ในสัปดาห์นี้ ซึ่งคล้ายคลึงกับแรงเหวี่ยงอย่างบ้าคลั่งของตลาดเซี่ยงไฮ้เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา จึงผิดปกติมาก ในขณะที่ตลาดเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นต้นแบบเริ่มสงบนิ่งหรือแกว่งตัวในกรอบแคบลง ได้สะท้อนถึงจิตสำนึกของนักลงทุนทั้งรายย่อยและนักลงทุนสถาบันของญี่ปุ่นยามนี้ได้อย่างดีว่า แม้กระทั่งคนที่มีประสบการณ์ยาวนาน เมื่อถึงเวลาของความตื่นตระหนกจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ซึ่งดาหน้าพร้อมกัน การควบคุมพฤติกรรมก็ยุ่งยากวุ่นวายไม่ผิดกันเท่าใด
แม้ผู้รู้จำนวนมากของตลาดหุ้นโตเกียว จะเชื่อมั่นว่า ความหวั่นไหวต่อสถานการณ์ยามนี้ของนักลงทุนในตลาดหุ้นโตเกียวจะเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ ไม่ยาวนานเหมือนในจีน แต่ตลาดหุ้นโตเกียวที่กลายสภาพเป็นกาสิโนชั่วคราวนี้ ก็สะท้อนถึงเชื้อโรค “เซี่ยงไฮ้ ซินโดรม” ที่แพร่กระจายตัวได้รวดเร็วชนิดที่ยากปฏิเสธได้
พฤติกรรมที่ทำให้ตลาดหุ้นโตเกียวกลายเป็นบ่อนกาสิโนนี้ จะแพร่ระบาดไปยังตลาดหุ้นหลักของโลก อย่างยูโรโซน หรือ วอลล์สตรีท ได้หรือไม่ คงได้รู้กัน