กฟผ. แจงโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดมีจริง! ยันปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม

กฟผ. ออกโรงแจงโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดมีจริง! ยันปลอดภัยต่อมนุษย์-สิ่งแวดล้อม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีข่าวเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 เรื่อง “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินแบนนกแอร์! หลังโฆษณาหนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน” นั้นอาจเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้

สำหรับการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กฟผ. ได้จัดทำสื่อเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาพลังงานของประเทศ และนำข้อห่วงใยของชุมชนที่สะท้อนผ่านสื่อมวลชนและการรับฟังความคิดเห็น มาปรับปรุงการดำเนินงาน  รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบต่าง ๆ เพื่อลดความวิตกกังวลของสังคมและชุมชน โดย กฟผ. ได้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวตามช่องทางการสื่อสาร ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสื่ออื่น ๆ โดยทั่วไป เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปและพื้นที่โครงการ

สำหรับเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่เรียกว่า เทคโนโลยีสะอาด นั้น คือเทคโนโลยีในการควบคุมมลภาวะด้านต่างๆ ในการนำถ่านหินมาผลิตไฟฟ้าให้เป็นไปตามหรือดีกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดครอบคลุมทุกด้าน ประกอบด้วย การควบคุมฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน และโลหะหนัก ซึ่งการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวทั้งในต่างประเทศ และภายในประเทศ มีผลการตรวจวัดค่ามลภาวะที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้า ในบรรยากาศ ในดิน และน้ำ ซึ่งดีกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหลายเท่าตัว สามารถพิสูจน์ได้ว่าปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม สำหรับผลการศึกษาดังกล่าวของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ได้ปรากฏอยู่ในรายงานประเมินผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ตาม PDP2015 ประเทศไทยมีเป้าหมายลดคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 37 จาก 0.506 กิโลกรัมต่อการผลิตไฟฟ้า 1 หน่วย ในปี 2556 เหลือ 0.319 กิโลกรัมต่อ 1 หน่วย  ในปี 2579 ด้วยการดำเนินงานทั้งด้านการอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาพลังงานทดแทน และการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักซึ่งใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน เป็นโรงไฟฟ้าฐาน โดยมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น ลม แสงอาทิตย์ และชีวมวล เป็นพลังงานเสริม ซึ่งตามแผน PDP2015 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินร้อยละ 20 – 25 ในปี 2579 เพื่อให้มีการกระจายการใช้เชื้อเพลิงที่สมดุล มีเสถียรภาพในระยะยาว และมีราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงได้

โดยการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ทั้งการใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งตัวอย่างการพัฒนาพลังงานในต่างประเทศ ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริง และการตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้สาธารณชนได้ใช้วิจารณญาณ ในการพิจารณาทิศทางการพัฒนาพลังงานของประเทศ นอกจากนี้  กฟผ. ยังเป็นองค์กรของรัฐ ที่ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงถูกตรวจสอบจากสังคม และหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ตลอดเวลา

 

Back to top button