ครม. เบรกขยายเกษียณอายุราชการ 60 เป็น 63 ปี แจงต้องจัดสรรงบ ช่วยกลุ่มเปราะบางก่อน

ครม. เบรกขยายเกษียณอายุราชการ 60 เป็น 63 ปี แจงต้องจัดสรรงบ ช่วยกลุ่มเปราะบางก่อน


น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 มีสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2573 ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องมีแผนรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งในส่วนของข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารบุคลากรภาครัฐ ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการขยายอายุเกษียณราชการ ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมมาระยะหนึ่งแล้ว

โดยกำหนดสาระสำคัญให้การขยายอายุเกษียณราชการเป็นมาตรการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย และสนับสนุนให้บุคลากรภาครัฐมีงานทำหลังเกษียณ รวมถึงการบริหารกำลังคนภาครัฐในช่วงวัยต่างๆ อย่างเหมาะสม ซึ่งแนวทางหนึ่งคือ การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี โดยไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกาย

อย่างไรก็ดี สำนักงาน ก.พ.ได้รับรายงานและข้อเสนอแนะ เรื่อง การจ้างข้าราชการภายหลังเกษียณอายุ 60 ปี เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โดยสำนักงาน ก.พ.ได้จัดให้มีการประชุมพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีข้อสรุปดังนี้

1.เห็นด้วยกับการชะลอการขยายเกษียณอายุราชการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม (จากเกษียณอายุ 60 ปี เป็น 63 ปี) เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงระบบการคลังและงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งควรใช้จ่ายงบประมาณที่มีจำกัด เพื่อให้เกิดการจ้างงานกลุ่มเปราะบางก่อนเป็นอันดับแรก และเมื่อสามารถจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้แล้ว จึงนำกลับมาพิจารณาใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

2.เห็นด้วยกับการจ้างงานเพื่อใช้ศักยภาพข้าราชการเกษียณ ที่เสนอให้มีการกำหนดทางเลือกที่หลากหลายในการจ้างงานข้าราชการที่เกษียณอายุราชการควบคู่ไปกับมาตรการขยายอายุเกษียณ ทั้งนี้ ให้พิจารณาตามความจำเป็นและความต้องการบุคลากรในแต่ละตำแหน่งสาขา เช่น ตำแหน่งที่ขาดแคลนกำลังคน ตำแหน่งที่ต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และให้พิจารณาจ้างข้าราชการเกษียณอายุในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การจ้างเหมาบริการ การรับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น

3.เห็นด้วยกับการศึกษาเพื่อปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญของข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวได้มีการเตรียมความพร้อมและวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง และจะได้มีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลและแนวทางการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกันต่อไป

“นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความสำคัญของการบริหารบุคลากรภาครัฐในภาพรวม ซึ่งต้องพิจารณาดำเนินการในหลายมิติควบคู่กันไป ทั้งการลดกำลังคน การส่งเสริมบุคลากรคนรุ่นใหม่ การจ้างงานข้าราชการเกษียณที่มีศักยภาพในตำแหน่งขาดแคลน และการเตรียมรับสังคมสูงวัย” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

Back to top button