“กยศ.” ปัดผลักภาระเอกชน หักเงินเดือนลูกจ้าง ชำระคืนกองทุนกู้ยืมฯ
"กยศ." ปัดผลักภาระเอกชน หักเงินเดือนลูกจ้าง ชำระคืนกองทุนกู้ยืมฯ
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงกรณีที่มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการที่ กยศ.ออกหนังสือแจ้งให้ภาคเอกชนหักเงินเดือนพนักงานที่กู้ยืมเงิน กยศ. และนำส่งเงินชำระคืนกองทุน ทั้งที่ภาคเอกชนไม่ได้เกี่ยวข้องและบังคับภาคเอกชนเก็บหนี้ให้แทน ถือเป็นการผลักภาระให้ภาคเอกชนว่า กยศ. ได้จัดประชุมชี้แจงให้นายจ้างได้รับทราบและเข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นายจ้างทุกภาคส่วนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
โดยกองทุนได้มีหนังสือถึงหน่วยงานองค์กรนายจ้างภาคเอกชน ในการหักเงินเดือนเพื่อชำระเงินคืนกองทุนตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 โดยการดำเนินการแจ้งหักเงินเดือนได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย.61 เริ่มจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กตามลำดับ
ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่กองทุนฯ ต้องแจ้งหักเงินเดือนทั้งหมดประมาณ 107,000 แห่ง และมีผู้กู้ยืมที่เป็นพนักงานของหน่วยงานเหล่านี้ที่อยู่ในเกณฑ์หักเงินเดือนทั้งหมด 1,735,000 ราย ในช่วงที่ผ่านมา กองทุนได้แจ้งหักเงินเดือนไปยังนายจ้างแล้ว 14,813 แห่ง เป็นจำนวนผู้กู้ยืมทั้งสิ้น 1,268,000 ราย และอยู่ในระหว่างการแจ้งหักเงินเดือนในเดือน มี.ค.64 อีก 92,935 แห่ง ซึ่งมีผู้กู้ยืมจะอยู่ในเกณฑ์หักเงินเดือนจำนวน 466,000 ราย
สำหรับขั้นตอนการหักเงินเดือนของพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นผู้ยืมเงิน กยศ. ผ่านองค์กรนายจ้างนั้น กองทุนจะจัดส่งหนังสือแจ้งหักเงินเดือนไปตามที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ของผู้กู้ยืมเงินได้รับทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน จากนั้นกองทุนจะจัดส่งหนังสือแจ้งให้นายจ้างทราบถึงข้อมูลของผู้กู้ยืมเงินรวมทั้งจำนวนเงินที่ต้องหักนำส่งล่วงหน้าประมาณ 30 วัน โดยนายจ้างสามารถตรวจสอบข้อมูลที่ต้องหักและนำส่งผ่านระบบรับชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาผ่านกรมสรรพากร (e-PaySLF) โดยเข้าใช้งานได้ที่เว็บไซต์ กยศ. www.studentloan.or.th ซึ่งกองทุนจะมีการปรับข้อมูลผู้กู้ยืมให้เป็นปัจจุบัน และจะแจ้งข้อมูลที่ต้องหักและนำส่งให้นายจ้างได้ทราบผ่านระบบดังกล่าวในทุกวันที่ 5 ของเดือน
“เมื่อพนักงานได้รับเงินเดือน ลำดับการหักเงินเดือนกองทุนอยู่ในลำดับ 3 โดยลำดับแรกเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลำดับที่ 2 หักกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และประกันสังคม และลำดับที่ 3 หักเงินกองทุน กยศ.” นายชัยณรงค์ กล่าว
ส่วนการคำนวณยอดหักเงินเดือนนั้น กยศ.ฃจะใช้ยอดหนี้ตามตารางชำระรายปี หารด้วย 12 เดือน หรือจำนวนเดือนที่เหลือก่อนวันครบกำหนดชำระ (5 ก.ค. ของทุกปี) และในงวดปีถัดไปจะเริ่มหักเงินเดือนตั้งแต่เดือน ก.ค. ของทุกปีจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น
ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมเงินที่ไม่สามารถชำระตามอัตราที่แจ้ง สามารถขอปรับลดจำนวนเงินได้โดยแจ้งความประสงค์ขอลดจำนวนการหักเงินเดือนได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” โดยกองทุนอนุโลมให้ชำระขั้นต่ำเพียง 100 บาท แต่ผู้กู้ยืมเงินยังมีหน้าที่ต้องไปชำระเงินในส่วนที่ขาดไปของงวดนั้นให้ครบตามจำนวนที่ต้องชำระก่อนวันครบกำหนดชำระหนี้รายปี
สำหรับภาพรวมการดำเนินงานของ กยศ. ปัจจุบันมีการปล่อยกู้ให้นักเรียนนักศึกษาไปแล้ว 5.9-6 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 6.5 แสนล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการชำระหนี้ 60% มีลูกหนี้ชำระหนี้ปกติ 55% และผิดนัดชำระหนี้อีก 45% มีการชำระหนี้และปิดบัญชีไปแล้วประมาณ 1 ล้านราย ส่วนปีการศึกษา 2564 กองทุนได้เตรียมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา จำนวน 38,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมจำนวน 624,000 รายไว้เรียบร้อย