อย่าห้ามม็อบเสียให้ยาก
สวนดุสิตโพลทำผลสำรวจออกมาค่อนข้างดี ในทัศนะแบบไทย ๆ ภายใต้ความเป็นจริงว่าผู้ตอบโพลคงไม่ใช่คนรุ่นใหม่ ที่แสดงความโกรธอยู่ในโลกทวิตเตอร์นับล้าน
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
สวนดุสิตโพลทำผลสำรวจออกมาค่อนข้างดี ในทัศนะแบบไทย ๆ ภายใต้ความเป็นจริงว่าผู้ตอบโพลคงไม่ใช่คนรุ่นใหม่ ที่แสดงความโกรธอยู่ในโลกทวิตเตอร์นับล้าน
แบบไทย ๆ คือ 50.07% อยากให้ถอยคนละก้าว 55.33% เห็นว่าการเคลื่อนไหวต่างจากสมัยก่อน แม้ 27.63% ไม่เห็นด้วย 23.98% ค่อนข้างไม่เห็นด้วย 23.19% เห็นด้วย 25.30% ค่อนข้างเห็นด้วย แต่ 39.49%+28.60% ก็ไม่เห็นด้วยและค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับท่าทีรัฐบาล ซึ่ง 51.41% เห็นว่าเน้นสกัดกั้น จับกุมแกนนำ 50.35% เห็นว่าใช้กำลังเกินกว่าเหตุ 48.94% เห็นว่าพยายามควบคุมสถานการณ์ โดยฝั่งเห็นด้วยกับท่าทีรัฐบาลมี 8.28% ค่อนข้างเห็นด้วย 23.63%
ที่ว่าค่อนข้างดีคือยังดีกว่าสื่อกระแสหลัก ที่มุ่งให้ภาพม็อบใช้ความรุนแรง ทำผิดกฎหมาย ทั้งที่ความเป็นจริง รัฐใช้กฎหมายเหวี่ยงแห ชุมนุมโดยสันตินั่งพับเพียบก็ผิด ตำรวจอ้างได้หมด ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ รักษาความสะอาด ใช้เครื่องขยายเสียงไม่ได้รับอนุญาต ฯลฯ กวาดไปถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งตำรวจติดโควิดเสียเอง
การชุมนุมโดยสันติไม่จำเป็นต้องนั่งพับเพียบ สามารถท้าทายทั้งเชิงสัญลักษณ์และกายภาพ เช่น ม็อบ 28 ก.พ.เดินไปบ้านประยุทธ์ รู้กันว่าไม่บุกราบ 1 หรอก แต่เป็นการท้าทาย ลองดูสิตำรวจจะจัดการอย่างไร ตำรวจก็ไปตั้งตู้คอนเทนเนอร์ขวางแล้วฉีดน้ำสลายจนบานปลาย
คืนวันที่ 6 มี.ค. เดินไปหน้าศาล “เผาขยะ” ก็คือท้าทายเชิงสัญลักษณ์โดยไม่เข้าไปในเขตศาล แต่สื่อใหญ่กลับพาดหัวว่า “เผา-พ่นสีหน้าศาล” ทำให้ดูเป็นความผิดร้ายแรง ทั้งที่การเผาหุ่นเผาป้ายเป็นกิจกรรมที่ทำกันทุกม็อบ
ตำรวจก็ใช้กำลังหน่วย SWAT (อย่างเท่ อย่างเก่ง) จับ WEVO ทั้งที่พวกเขานัดกันไปกินข้าวในห้าง โดยไม่มีหมายจับ มาตั้งข้อหาภายหลัง อ้างว่าผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.โรคติดต่อ (จากการรวมตัวในห้าง) แล้วเอา 14 คนใส่รถผู้ต้องขังผ่านที่ชุมนุม จนโดนทุบรถ สื่อพาดหัวข่าวราวกับมีการชิงตัวผู้ต้องหา แต่เอาเข้าจริงทนายพาไป สน. ยืนยันว่าไม่ได้หนี ก็ไม่ตั้งข้อหาอะไร
สถานการณ์ตอนนี้ แน่นอนม็อบอารมณ์ร้อนแรงขึ้น จากการใช้อำนาจตำรวจ อำนาจรัฐ อำนาจศาล แม้คนเข้าร่วมน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อน อาจเพราะท้อใจว่าไม่มีทางชนะ แต่ความไม่พอใจต่อระบอบอำนาจไม่ได้ลดลง ไม่ได้เปลี่ยนใจหันมายอมรับ
การแสดงออกของม็อบ ไม่ใช่การแสดงออกเพื่อเอาชนะ แต่แสดงออกเพื่อยืนยันว่าไม่ยอมแพ้ แม้ถูกกันเป็นคนส่วนน้อยในสังคมไทยที่ถือคติว่า อะไรที่เขาห้ามก็อย่าทำ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
ม็อบคนรุ่นใหม่ถึงเป็นคนส่วนน้อยก็เป็นคนที่กุมอนาคตของสังคม สามารถแพร่ความคิดกว้างขวางในคนรุ่นพวกเขา ตั้งแต่อายุ 30 กว่าลงไปถึงสิบกว่า โดยมีทิศทางเป็น Rebel กบฏสังคม ต่อต้านอำนาจ แสดงจุดยืนไม่สยบยอมในรูปแบบต่าง ๆ
ซึ่งต่างจากคนรุ่นเก่า ตรงที่คนรุ่นใหม่เติบโตมาในวัฒนธรรมไม่ยอมจำนน แม้อำนาจมุ่งหวังว่าจะกดคอไว้อย่างนี้ รอให้เรียนจบสร้างครอบครัวมีภาระทำมาหากินแล้วจะเลิกต่อต้าน
การแสดงพลังกบฏสามารถทำได้หลากหลาย แต่เฉพาะหน้าม็อบ REDEM ม็อบแนวร่วมธรรมศาสตร์ ม็อบเดินทะลุฟ้า ฯลฯ จะแสดงพลังไม่ยอมแพ้ จนกว่าอำนาจรัฐจะยอมรับเป็นพลังที่ร่วมกำหนดทิศทางสังคม
สถานการณ์อย่างนี้ก็คงมีคนบ่นว่าไม่สงบ เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน ทั้งที่ความจริง ปัญหาเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลนี้กำลังรุมเร้าจนน้ำท่วมปริ่มจมูก พอมีม็อบก็กลัวน้ำกระเพื่อม แล้วโทษม็อบ