BTS ยื่นหนังสือถึงนายกฯ สอบ รฟม.-ชะลอประมูล “สายสีส้ม” จนกว่ามีคำสั่งศาล
BTS ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ร้องสอบ รฟม.-ชะลอประมูล “สายสีส้ม” จนกว่ามีคำสั่งศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค.64 นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้ลงนามในหนังสือ ยื่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท
โดยใจความสำคัญของหนังสือระบุว่า สืบเนื่องจากที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยจะมีการพิจารณาประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน จนเป็นเหตุให้ BTSC ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางก่อนหน้านี้นั้น
ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 3 ก.พ.64 รฟม. ได้ประกาศในเว็บไซต์ www.mrta.co.th ยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวน และเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีหมายแจ้งว่า รฟม. ได้ขอถอนอุทธรณ์คำสั่งทุเลาฯ และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ เท่ากับว่าคำสั่งทุเลาฯ ที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยไว้ รฟม. ไม่ขอโต้แย้ง
อีกทั้งในขณะนี้คดีอยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองกลาง ซึ่ง BTSC เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของ รฟม. ไม่ถูกต้องทั้งข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากประเด็นข้อคิดเห็นที่ แตกต่างกันระหว่าง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 กับ BTSC ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ซึ่งทุกฝ่ายที่เป็นคู่ความที่เกี่ยวข้องจะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่เป็นที่สุดเสียก่อนเพื่อนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป
ดังนั้น ในวันที่ 22 ก.พ.64 BTSC จึงได้ยื่นฟ้องนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 เป็นคดีอาญา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ระหว่างรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองกลางและการดำเนินกระบวนการทางอาญาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่ BTSC ฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ว่าได้กระทำความผิด รฟม. โดยนายภคพงศ์ ผู้ว่าการ รฟม. ได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนด้วยการประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนใหม่ โดยให้กรอกความเห็นในเอกสารตามแบบสอบถามและจัดส่งให้ รฟม. ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ของ รฟม. ตั้งแต่วันที่ 17-19 มี.ค.64 และปรากฏว่าข้อมูลสำหรับการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนฯ มีสาระสำคัญของวิธีการประเมินข้อเสนอ
กล่าวคือ “การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 โดย รฟม.จะประเมินข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 เป็นคะแนน โดยมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และคะแนนข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน และนำคะแนนซองที่ 2 และซองที่ 3 ของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายมารวมกัน และผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุดจะเป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด” โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอในข้างต้น เป็นหลักเกณฑ์เดียวกับหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่ให้ รฟม.นำมาใช้บังคับในการคัดเลือกเอกชน
จากข้อเท็จจริงข้างต้น จะเห็นได้ว่า ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 นั้น การดำเนินการของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ที่ผ่านมา รวมถึงการเปิดให้รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อจัดทำร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนใหม่ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มิอาจกระทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของโครงการฯ และความล่าช้าที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากการกระทำของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ที่ไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีมูลเหตุจูงใจที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน ทั้งๆที่ กรรมการผู้แทนสำนักงบประมาณ ในคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ที่ร่วมประชุมด้วยได้ทักท้วงแล้วว่า เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญ ต้องเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน
แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การกระทำที่ผิดกฎหมายต่างๆ ที่ผ่านมาของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 มีจุดประสงค์เพียงเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน ที่ผ่านความเห็นชอบมาโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ไปสู่หลักเกณฑ์ใหม่ที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ต้องการ โดยไม่คำนึงว่าหลักเกณฑ์เดิมเป็นสิ่งที่จัดทำขึ้นอย่างถูกต้องตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว เป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม ไม่เคารพต่อคำสั่งของศาลปกครองกลาง และไม่ใส่ใจต่อคำทักท้วงของสื่อมวลชนที่ติดตามโครงการฯ นี้มาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ รฟม. ได้เริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนเพื่อนำไปจัดทำร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุน เพื่อส่งให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ให้ความเห็นชอบตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มาตรา 39 โดยไม่เสนอปัญหาที่เกิดขึ้นต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และ ครม.พิจารณาตามกฎหมายก่อนว่า กระทำได้หรือไม่ ถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร
ขณะเดียวกัน เรื่องดังกล่าว มีขั้นตอนตามกฎหมาย และประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้ว BTSC ได้พยายามอย่างที่สุดตามกฎหมาย และประกาศที่บัญญัติไว้ เพื่อระงับยับยั้งการกระทำที่ไม่ชอบของกลุ่มบุคคลดังกล่าว จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพียงเพื่อต้องการให้การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม และเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ได้แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินหลังจากที่ออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว ตลอดจนประกาศเชิญชวนฯ ให้มีการยื่นข้อเสนอโดยถูกต้องในทุกขั้นตอนแล้ว จึงมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เป็นสาระสำคัญโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการที่ต่อมาได้ประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว และเริ่มต้นกระบวนการคัดเลือกเอกชนใหม่โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินที่ยังมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทำลายกระบวนการประกวดราคาครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงโครงการนี้ถือเป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้การประกวดราคาแบบ International Bidding
อีกทั้งการที่ รฟม. ใช้หลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอตามที่ปรากฏในข้อมูลสำหรับการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนฯ มีการชี้นำในหัวข้อที่วิธีการประเมินข้อเสนอที่ระบุถึงการใช้คะแนนด้านเทคนิคที่สอดรับกับการแก้ไขหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยเป็นเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากปล่อยให้หน่วยงานของรัฐมีการดำเนินการโดยไม่ถูกต้องในลักษณะที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนผู้ลงทุนทั้งภายในประเทศและโดยเฉพาะผู้ลงทุนจากต่างประเทศ จนอาจทำให้ประเทศชาติได้รับความเสื่อมเสียและขาดความน่าเชื่อถือ
บริษัทฯ จึงขอกราบเรียนมายังท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้โปรดตรวจสอบการกระทำของผู้ว่าการ รฟม. คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 และผู้เกี่ยวข้องตามข้อเท็จจริงรายละเอียดที่นำเสนอข้างต้น และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากปรากฏผลทางการพิจารณาคดีว่า การกระทำที่ผ่านมาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามฟ้อง จึงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดสั่งการไปยัง รฟม. ให้หยุดการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เป็นกรณีพิพาทนี้ จนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาต่อไป