ไม่เห็นทางลงแต่แข็งกร้าวทายท้าวิชามาร

หลังคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ท่าทีของ คสช. คือ “ขอเวลาอีกนาน” ปักหลักตั้งท่าอยู่ยาว ใช้ท่าทีแข็งกร้าวกับคนวิพากษ์วิจารณ์ กักตัวพิชัย นริพทะพันธุ์, การุณ โหสกุล ราวกับย้อนเวลาไปหลังยึดอำนาจใหม่ๆ แถม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ยังเปิด มทบ.11 เป็นเรือนจำชั่วคราวขังนักโทษพิเศษ นี่กะจะขังอีกเยอะเลยหรือ


หลังคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ท่าทีของ คสช. คือ “ขอเวลาอีกนาน” ปักหลักตั้งท่าอยู่ยาว ใช้ท่าทีแข็งกร้าวกับคนวิพากษ์วิจารณ์ กักตัวพิชัย นริพทะพันธุ์, การุณ โหสกุล ราวกับย้อนเวลาไปหลังยึดอำนาจใหม่ๆ แถม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ยังเปิด มทบ.11 เป็นเรือนจำชั่วคราวขังนักโทษพิเศษ นี่กะจะขังอีกเยอะเลยหรือ

คำถามคือ หลังคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ  คสช.อยู่ในสถานะเช่นไร แน่ละ อำนาจกองทัพยังเข้มแข็งเป็นเอกภาพ แต่ในทางการเมืองล่ะ

พวกเชียร์ คสช.อาจบอกว่าไม่เห็นเป็นไร ในเมื่อเขียนเองคว่ำเอง บ้างว่าเป็นแผนที่วางไว้แต่ต้นเพื่ออยู่ยาว แหม ใครหนอวางแผนให้ตัวเองทั้งเสียเวลา เสียกระบวนท่า เสียพวก เสียขุนพล “จัดฉาก” หักโค่นบวรศักดิ์ อุวรรณโณกลางสภา ทำให้ สปช. 105 คนทั้งเสียหน้าเสียความรู้สึก นักการเมืองก็ดาหน้าทวงถามความรับผิดชอบ ไล่จี้ว่าเมื่อไหร่จะเป็นตามคำสัญญา

การ Restart ไม่ง่ายเหมือนนับหนึ่งเมื่อ 11 เดือนที่แล้วนะครับ เพราะเสียงวิพากษ์วิจารณ์เยอะขึ้น เสียงชื่นชมก็ลดลง คนกันเองที่เคยเชียร์ก็เสียอารมณ์ไปเยอะ เอาง่ายๆ ตอนประกาศชื่อกรรมการยกร่างและสภาขับเคลื่อนปฏิรูป คงไม่ได้เสียงแซ่ซ้อง “ดีเด่นดัง” แบบครั้งที่แล้ว มีแต่จะถูกจับจ้องว่าพวกยกมือคว่ำร่างได้เก้าอี้ต่างตอบแทนกี่คน

การหาคนมาเป็นกรรมการยกร่างก็ไม่ง่าย ในเมื่อ “ผีบวรศักดิ์” ยังหลอกหลอนอยู่เห็นๆ วิษณุ เครืองาม บอกคนยกร่างต้องเข้าใจสภาพสังคมการเมือง ต้องมีแนวคิดตรงกับรัฐบาล พูดแบบนี้เลิกเก็งชื่อปรมาจารย์นิติศาสตร์รัฐศาสตร์ได้เลย เพราะคนแบบนั้นไม่ใช่นายทหารพระธรรมนูญ ถ้าเข้ามาก็ต้องมีความคิดทฤษฎีของตัวเอง

เอ้า ยกตัวอย่างสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ หัวเรี่ยวหัวแรงคว่ำร่างบวรศักดิ์ ท่านชูไอเดียเลือกนายกฯ โดยตรงนะครับคสช.เห็นด้วยหรือเปล่า  ถ้าเห็นด้วยก็เชิญมา ถ้าเห็นต่างเอาเข้ามาก็มีแต่ทะเลาะกัน

การหาคนจึงต้องวางโครงสร้างรัฐธรรมนูญคร่าวๆ ก่อน ว่าต้องการแบบไหน ไม่ใช่ตั้งคนแล้วควานกันไป 6 เดือนไม่จบ ว่าที่จริงถ้าวางโครงสร้างที่ คสช.พอใจ พรรคการเมืองรับได้ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่คัดค้าน เขียนรัฐธรรมนูญ 7 วันก็เสร็จ แต่จะหาสูตรวิเศษอย่างนั้นที่ไหน ในเมื่อ คสช.ก็วางใจให้กลับสู่ประชาธิปไตยที่นักการเมืองมีอำนาจจากเลือกตั้ง ฝั่งนักการเมืองและประชาชนก็จับจ้องว่า คสช.จะสืบทอดอำนาจ

“บันไดลง” หายาก  คสช.จึงครองอำนาจต่อไป แต่ในสภาพที่มองไม่เห็นว่าโรดแมปจะไปทางไหน อยู่ได้ด้วยกำลังกองทัพ กับความนิยมของคนกลุ่มเดิมๆ ที่ตอนนี้ก็เริ่มเสียงแตก เพียงแต่ยังเกลียดนักการเมืองและ “สะใจ” ที่ได้เห็น ม.44 ถอดยศ

จุดแข็งชั่วคราวยังได้แก่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แม้ถูกวิพากษ์ว่าก๊อบประชานิยมทักษิณมาใช้ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ยังไงๆ งบที่ทุ่มลงไปก็คงผ่อนลมหายใจระยะสั้น

ในสถานการณ์ที่ไม่รู้จะไปทางไหน ยังต้องใช้เวลาอีกนานจึงน่าประหลาดใจที่คสช.ใช้มาตรการแข็งกร้าว แทนที่จะหันมาอะลุ่มอล่วย ถ้าบอกว่า “ตัดไม้ข่มนาม” เพราะต้องอยู่อีกนาน ก็เป็นการเริ่มต้นที่ผิด สร้างความตึงเครียดโดยยังไม่รู้อนาคต เร่งสถานการณ์ให้ร้อนแรงโดยไม่จำเป็นทั้งที่ตัวเองยังไม่เห็นทางลง

 

                                                                                                            ใบตองแห้ง

Back to top button