S อัพแวลูสู่ไฟฟ้า

เป็นที่รู้กันดีว่า...พิษร้ายโควิดทำลายล้างทุกกลุ่มธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบหนักจากกำลังซื้อที่หดหาย และแบงก์ไม่ปล่อยกู้ ส่งผลให้ต้องเผชิญภาวะรายได้หาย กำไรหดกันถ้วนหน้า...


สำนักข่าวรัชดา

เป็นที่รู้กันดีว่า…พิษร้ายโควิดทำลายล้างทุกกลุ่มธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบหนักจากกำลังซื้อที่หดหาย และแบงก์ไม่ปล่อยกู้ ส่งผลให้ต้องเผชิญภาวะรายได้หาย กำไรหดกันถ้วนหน้า…

ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มสิงห์ ที่ทำธุรกิจอสังหาฯ ภายใต้บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S (ผ่านการ Backdoor Listing บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ RASA เข้ามาเมื่อปลายปี 2557) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอสังหาฯ บายโปรเจกต์ และอสังหาฯ ที่เป็น Recurring Income รายได้ปรับลดลงอย่างชัดเจน

สะท้อนได้จากงบปี 2563 ที่พลิกมาขาดทุนมโหฬารถึง 2,613 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 1,143 ล้านบาท ขณะที่รายได้หายไปเกือบครึ่ง เหลือแค่ 7,565 ล้านบาท จากเดิมทำได้ 13,377 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากการขายบ้านและอาคารชุด ลดลง 50% อยู่ที่ 3,728 ล้านบาท และรายได้จากการให้เช่าและบริการลดลง 41% อยู่ที่ 2,814 ล้านบาท

เรียกว่า ดูไม่จืดจริง ๆ…

จากผลกระทบดังกล่าว ล่าสุด S ต้องปรับกลยุทธ์แตกไลน์ไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง…เลยเป็นที่มาของการไปลงทุนนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจโรงไฟฟ้า

แม้ดูผิวเผินเป็นการปรับพอร์ตกันภายในกลุ่มสิงห์ แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ S…ช่วยชดเชยในสถานการณ์ที่ธุรกิจอสังหาฯ อาจไม่สดใสซาบซ่าเหมือนเดิม เพราะอย่างน้อย ๆ ก็มีนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งมีความมั่นคงในแง่ของรายได้มาช่วยซัพพอร์ต

โดย S ได้ตั้งบริษัทลูกที่ชื่อว่า บริษัท เอส.ไอเอฟ. จำกัด (S.IF.) ขึ้นมาใหม่ เพื่อซื้อกิจการบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินขนาดประมาณ 1,790.56 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.หลักฟ้า และ ต.ไชยภูมิ อ.ไชโย จ.อ่างทอง สำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม จากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มูลค่าราว 510 ล้านบาท

จากนั้นก็ให้ เอส.ไอเอฟ. เข้าซื้อหุ้นสามัญ 30% ในบริษัท อ่างทองเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และไอน้ำที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) อายุสัญญา 25 ปี โดยเริ่ม COD แล้วตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2559 จาก Whitefords United Pte. Ltd. ซึ่งมีบุญรอดเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อม 50% คิดเป็นเงินลงทุนราว 557 ล้านบาท

รวมทั้งให้ เอส.ไอเอฟ. เข้าซื้อหุ้นไม่น้อยกว่า 30% ในบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 1 จำกัด (BGPR 1) และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 2 จำกัด (BGPR 2) จาก Prime Harvestment Ltd. มูลค่า 15 ล้านบาท โดย BGPR 1 มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ EGAT 25 ปี กำหนด COD 1 ต.ค. 2566 ส่วน BGPR 2 มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ EGAT 25 ปี กำหนด COD 1 ธ.ค. 2566

ความน่าสนใจของการโยกทรัพย์สินของกลุ่มสิงห์มาอยู่ภายใต้ S ครั้งนี้…แน่นอนว่าจะทำให้ S มีพอร์ตลงทุนใหญ่ขึ้น นั่นหมายถึงโอกาสในแง่ของรายได้ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย…แต่ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ครอบครัว “ภิรมย์ภักดี” ตัวเบาขึ้นเช่นกัน…

อย่าลืมว่า สองในสามรายการข้างต้น ยังต้องใช้เงินลงทุนอีกจำนวนมาก อย่างโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรม คาดต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1,726 ล้านบาท ส่วนโรงไฟฟ้า BGPR 1 และ BGPR 2 ต้องใช้เงินก่อสร้างอีกประมาณ 820 ล้านบาท ซึ่งการมาอยู่ภายใต้ S จะทำให้มีช่องทางในการหาเงินได้หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุน ออกหุ้นกู้ หรือไปกู้แบงก์ ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำ…

ทำให้ครอบครัว “ภิรมย์ภักดี” ไม่ต้องควักเงินจากกระเป๋าตัวเอง…แต่อาศัยเงินจากกระเป๋าคนอื่น ไปลงทุนพัฒนาโครงการแทน

เป็นการวางหมากธุรกิจที่แยบยลจริง ๆ…

…อิ อิ อิ…

Back to top button