“บอนด์ยีลด์” ทะยาน 1.630% นิวไฮรอบ 1 ปี รับ “ไบเดน” ลงนามกระตุ้นศก. 1.9 ล้านล้านดอลฯ
"บอนด์ยีลด์" ทะยานสู่ 1.630% สูงสุดรอบ 1 ปี รับ “ไบเดน” ลงนามร่างกม.กระตุ้นศก. วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 64) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทะลุ 1.630% ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ลงนามในร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ พร้อมกับแถลงว่าเขาจะทำให้ชาวอเมริกันทุกคนที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ภายในวันที่ 1 พ.ค.2564
ใน ณ เวลา 22.57 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 1.637% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.397%
ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังดีดตัวขึ้นขานรับตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่ต่ำกว่าคาด รวมทั้งการที่สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PPI เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากพุ่งขึ้น 1.3% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2552
หากเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 2.8% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2561 หลังจากเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนม.ค.
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี PPI จะปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน และพุ่งขึ้น 2.7% เมื่อเทียบรายปี
ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้เป็นปัจจัยผลักดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งทะลุระดับ 1.6% แตะระดับสูงสุดในปีนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากอยู่ต่ำกว่า 1% ในช่วงต้นปีนี้
สำหรับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รถยนต์ของสหรัฐ ซึ่งหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้เม็ดเงินในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
ขณะเดียวกัน มีการคาดการณ์กันว่า เงินเฟ้อจะเร่งตัวมากขึ้นจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากที่ปธน.ไบเดนได้ลงนามในร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อวานนี้
ส่วนทางนักลงทุนยังคงจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มี.ค.นี้ เพื่อดูท่าทีของเฟดเกี่ยวกับแนวโน้มการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อที่เป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ