พาราสาวะถี

ไม่แปลกใจที่การประชุมรัฐสภาวันวานจะประเดิมด้วยการลุกขึ้นอภิปรายของ ไพบูลย์ นิติตะวัน และ สมชาย แสวงการ ประสานเสียงเป็นปี่เป็นขลุ่ย ห้ามที่ประชุมเดินหน้าโหวตต่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ยุติและชัดเจน ต้องไปเริ่มต้นกันใหม่ด้วยการทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชนกันก่อน เท่ากับว่ามองเห็นภาพชัดในแนวทางของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ส.ว.ลากตั้งและพรรคสืบทอดอำนาจคิดอย่างไรต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


อรชุน

ไม่แปลกใจที่การประชุมรัฐสภาวันวานจะประเดิมด้วยการลุกขึ้นอภิปรายของ ไพบูลย์ นิติตะวัน และ สมชาย แสวงการ ประสานเสียงเป็นปี่เป็นขลุ่ย ห้ามที่ประชุมเดินหน้าโหวตต่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ยุติและชัดเจน ต้องไปเริ่มต้นกันใหม่ด้วยการทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชนกันก่อน เท่ากับว่ามองเห็นภาพชัดในแนวทางของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ส.ว.ลากตั้งและพรรคสืบทอดอำนาจคิดอย่างไรต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ไม่แปลกใจอีกเช่นกันที่ความเห็นของสองพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญอย่างประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย จะไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างที่ อนุทิน ชาญวีรกูล ว่า “เป็นเรื่องของปัจเจกพรรค” โดยพรรคเก่าแก่เลือกที่จะขอความเห็นจากที่ประชุมรัฐสภาให้ส่งตีความขอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญอีกรอบ ซึ่งมองว่าน่าจะเป็นการสูญเปล่า เข้าใจกันอยู่แล้วว่าเพราะอะไร ส่วนเสี่ยหนูก็อ้างเจตนารมณ์ของพรรคและความต้องการของประชาชนเป็นหลัก

คำถามที่สำคัญคือ ความต้องการของประชาชนในมุมนักการเมืองที่เต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบายนั้น คือ ต้องให้เกิดการทำประชามติถามความเห็นของประชาชนก่อนใช่หรือไม่ ชัดเจนอยู่แล้วกับแนวทางของพรรคการเมืองนี้ อย่างไรก็ตาม ปมปัญหาที่เกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ฝ่ายกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎรลงความเห็นว่าไม่ควรโหวตวาระ 3 ควรที่จะให้มีการทำประชามติถามความเห็นประชาชนเสียก่อน ซึ่งก็เป็นปัญหาต่อมาว่าแล้วจะทำประชามติกันในขั้นตอนใด เมื่อไหร่

กรณีนี้ มีความเห็นจากนักวิชาการที่น่าสนใจคือ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่มองว่า หากมีการตีความตามเนื้อผ้าหน้างานอย่างตรงไปตรงมา มาตรา 256 ไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และส่วนตัวเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล หากจะทำทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อน ถือว่าเป็นเรื่องดีที่มีการรับรองอำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน แต่คำถามที่ตามมาคือแล้วรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ถูกสถาปนามาด้วยอำนาจประชาชนหรือไม่

ขณะเดียวกัน ความเห็นของนักวิชาการหญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งนั้น ยังสะท้อนให้เห็นถึงความกล้าหาญต่อการทำหน้าที่ที่ถูกต้อง ซึ่งสมควรได้รับการยกย่องสรรเสริญมากกว่าพวกนักเลือกตั้งอกสามศอกที่เอาแต่หัวหดและมุ่งแต่จะแสวงหาประโยชน์เข้าพกเข้าห่อเพียงอย่างเดียว โดยสิริพรรณเห็นว่าการขู่กรณีหากโหวตวาระ 3 จะมีคนไปร้องป.ป.ช. ก็ยังสงสัยว่าเมื่อสมาชิกรัฐสภาทำงานตามหน้าที่ของตัวเองแล้ว ต้องดูว่ากฎหมายฉบับใดให้อำนาจป.ป.ช.ในเรื่องนี้

นั่นจึงเชื่อมั่นว่าการเดินหน้าโหวตวาระ 3 ไม่ถือว่ามีความผิดจากคำวินิจฉัย เพราะศาลรับรองอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาไว้แล้ว แต่ก็อีกนั่นแหละ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาว่าสภามีอำนาจโดยชอบธรรมหรือไม่ แต่มีการตั้งธงไว้แล้วว่าต้องยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นานที่สุด หรือหาหนทางเพื่อไม่ให้เกิดการแก้ไขได้ยิ่งดี นั่นจึงเป็นที่มาของการพยายามตีความข้อกฎหมายกันในทุกกระบวนท่า มิหนำซ้ำ นักกฎหมายฝ่ายสืบทอดอำนาจบางราย ปกติจะสงวนท่าทีต่อเรื่องแบบนี้ยังถึงขั้นชี้นำโดยไม่เก็บอาการกันเลยทีเดียว

มีความเห็นอีกหนึ่งมุมมองที่น่ารับฟังคือ ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ จากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่าเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้บนเงื่อนไขของประชามติทั้งก่อนและหลัง แต่โดยตรรกะและเหตุผลของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนที่ศาลอ้างนั้น ย่อมไม่มีเหตุผลใดจะอธิบายได้ถ้าเราจะปฏิเสธองค์กรซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงทั้งหมด ซึ่งมีความชอบธรรมที่มากกว่ารัฐสภาชุดปัจจุบันเพื่อทำหน้าที่นั้นแทนประชาชน

สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้ต่อความเห็นของปูนเทพกับหนทางที่จะเดินกันต่อไปเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่คาดหวังนั้น ยังมีอุปสรรคขวากหนามหลายประการโดยนักวิชาการรายนี้มองเอกสารข่าวแถลงผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นใบแผ่นปลิว ซึ่งคำสำคัญ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ไม่ปรากฏในแผ่นปลิวนี้ก็จะกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญต่อไปในทุก ๆ ชั้นของความพยายามจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แม้ว่าจะเลือกเดินทางที่เหมือนว่าศาลรัฐธรรมนูญขีดเส้นไว้ให้แล้วก็ตาม

ต้องดูต่อไปว่าหากประชาชนและนักการเมืองได้ยึดเอาความคิดที่ศาลรัฐธรรมนูญจุดพลุขึ้นมาเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญนี้ขึ้นมาอภิปรายต่อไป เพื่อนำไปสู่การลงประชามติของประชาชน แต่กลับถูกจำกัดด้วยระเบียบข้อบังคับการประชุมสภา ถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยการใช้กฎหมายปิดปาก และถูกกดทับไม่ให้พูดถึงความเป็นไปได้ในการปฏิรูปทางรัฐธรรมนูญอย่างรอบด้าน แผ่นปลิวที่ดูเหมือนจะอนุญาตให้ทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้นี้ ก็เป็นแค่การอ้างประชาชนอย่างไม่บริสุทธิ์ใจเพื่อเป้าหมายเฉพาะคดีเท่านั้น

อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนที่กล่าวอ้างก็ไม่ใช่อำนาจอย่างสากลที่ควรจะเป็น แต่จะเป็นก็แค่อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือควรเรียกว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแบบไทย ๆ นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะขับเคลื่อนกันในรูปแบบใด แต่หากเริ่มการแก้ไขด้วยการทำประชามติก็ควรจะกำหนดเรื่องกรอบเวลาให้ชัดว่าจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด

ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น บทสรุปจากความเห็นของสิริพรรณถือว่าตรงเป้าเข้าจุดตายที่สุด ถ้ายึดตามหลักการจะเห็นว่าการทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจและหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติถือเป็นเรื่องสำคัญ กรณีมีส.ส.หรือส.ว.บางรายยื่นให้ศาลและออกมาแสดงความเห็น น่าจะถูกมองว่าไม่เคารพอำนาจของตัวเองทั้งก่อนและหลังการวินิจฉัย ไม่ควรเอาอำนาจหน้าที่ของตัวเองไปให้องค์กรอื่นเหยียบย่ำ อาจจะถือว่าขาดศักดิ์ศรีในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง แต่พวกอย่างหนาไม่ได้คิดแบบนี้แม้แต่น้อย

Back to top button