บังคับไปสู่วิบัติ

ม็อบ REDEM เมื่อคืนวันเสาร์ คึกคักกว่าทุกครั้ง แต่ก็ถูกตำรวจปราบปรามอย่างรุนแรง โดยไม่ใช่แค่ไล่ออกจากพื้นที่สนามหลวง แต่ตามไปฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตา ยิงกระสุนยาง ไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สะพานวันชาติ ใช้กำลังต่อหน้าต่อตานักข่าว ซ้ำยิงกระสุนยางใส่นักข่าวด้วย


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ม็อบ REDEM เมื่อคืนวันเสาร์ คึกคักกว่าทุกครั้ง แต่ก็ถูกตำรวจปราบปรามอย่างรุนแรง โดยไม่ใช่แค่ไล่ออกจากพื้นที่สนามหลวง แต่ตามไปฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตา ยิงกระสุนยาง ไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สะพานวันชาติ ใช้กำลังต่อหน้าต่อตานักข่าว ซ้ำยิงกระสุนยางใส่นักข่าวด้วย

ตำรวจไม่ได้ป้องกันพื้นที่ แต่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุแบบหวังสั่งสอน ให้ม็อบเข็ดหลาบ ไม่กล้ามาอีก คนถูกจับก็ตั้งข้อหาหนัก ทั้งที่ถูกตำรวจรุมทำร้าย การใช้กระสุนยางไม่ได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น เพราะกฎบอกว่าต้องใช้เมื่อตำรวจตกอยู่ในอันตราย แล้วไม่ใช่ยิงตรงเข้าใส่ผู้ชุมนุม

ต่อให้อ้างว่าผู้ชุมนุมรื้อตู้คอนเทนเนอร์ก่อน ก็ไม่ใช่เหตุที่ตำรวจจะใช้รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา กระสุนยาง แล้วใช้กำลังกวาดจับ การชุมนุมทุกครั้งเป็นเรื่องปกติของม็อบที่จะยั่วเย้าแล้วหยุด ไม่ได้บุกรุกสถานที่ ไม่ว่าราบ 1 ศาลอาญา หรือถ้าบุกเข้าไปในสนามหลวงก็แค่นั้น เพราะใช้เป็นที่เดินผ่านที่จอดรถอยู่แล้ว ไม่เสียหายอะไร

ข้ออ้างโควิด-19 ห้ามชุมนุมแล้วสลายการชุมนุมยัดข้อหาไม่ฟังคำสั่งต่อสู้ขัดขวางประทุษร้าย จึงรู้แก่ใจ ว่าต้องการกำราบม็อบโดยใช้ทั้งกำลังและกฎหมาย หวังจับคนให้มากที่สุด เหมือนจับแกนนำไม่ให้ประกันและยังจะเพิ่มอีกในวันที่ 25 มี.ค.

แน่ใจว่าปราบได้หรือ ยิ่งจับไปมากเท่าไหร่ยิ่งเพิ่มความเกลียดชัง ต่อทั้งตำรวจและผู้บงการ อย่างที่มีม็อบไปสาด “อาหารหมา” ตามโรงพักมาหลายครั้ง

ม็อบ REDEM เป็นม็อบที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุดตั้งแต่ต้นปี ด้วยจุดเด่น “ไม่มีแกนนำ” แค่นัดผ่านเพจเยาวชนปลดแอก บอกสถานที่และพฤติกรรม “ท้าทาย” ทั้งสองครั้งที่ผ่านมาเกิดเหตุปะทะ ถูกใช้ความรุนแรง แต่ไม่ยอมถอย ครั้งหลังสุดอาจเพิ่มกระแสความไม่พอใจศาลรัฐธรรมนูญและ 250 ส.ว.ล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนไม่เหลือทางเปลี่ยนแปลงในระบบ

ทำไม REDEM จึงมีคนเข้าร่วมมากที่สุด ทั้งที่กำหนดพฤติกรรม “เสี่ยง” เช่นเมื่อคืนวันเสาร์ก็จะไป “อ่านหนังสือ” “ร่อนจดหมาย” ยืนหยัดท้าทายข้อเรียกร้องข้อ 3 แต่ม็อบที่ย้อนไปจัดในมหาวิทยาลัย “ไล่ประยุทธ์” กลับมีคนบางตา

มันสะท้อนว่าหลังจากคนรุ่นใหม่ออกมาล้นหลามเมื่อปี 2563 แล้วข้อเรียกร้อง “ชนตึก” คืออำนาจใหญ่โตมหึมาที่ไม่ยอมให้เปลี่ยนอะไรเลย คนส่วนหนึ่งก็ยกระดับขึ้นมาเป็น Rebel แบบ REDEM คนอีกส่วนอาจยังไม่พร้อม อาจจะกำลังมองหาแนวทางอื่น แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนความคิด และก้าวผ่านยุคม็อบมุ้งมิ้งมาแล้ว จนไม่กลับไปอีก

ผู้กุมอำนาจไม่ตระหนักหรืออาจไม่แยแส จึงคิดแต่ใช้วิธีจับปราบ พร้อมกับไม่ยอมให้เปลี่ยนอะไรเลยในเชิงโครงสร้าง รัฐธรรมนูญ 2560 ยังอยู่ พร้อมกลไกที่อุ้มประยุทธ์อย่างแน่นหนา ทั้ง 250 ส.ว. องค์กรอิสระ รัฐราชการทหารตำรวจ กระบวนการยุติธรรม อีกด้านก็เสริมความเข้มแข็งเครือข่ายนักการเมืองระบบอุปถัมภ์ แบ่งปันผลประโยชน์ เพื่อเอาชนะเลือกตั้งด้วยกลไกแบบเก่า

โครงสร้างมหึมานี้อยู่ใต้อำนาจบงการเดียว ควบคุมทหารตำรวจ ข้าราชการระดับสูง ตุลาการ นักการเมือง กลุ่มทุน ใช้กฎหมายจัดการประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างอำมหิต ขณะที่รัฐบาลก็อยู่ได้ด้วยโครงการสงเคราะห์ หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ จูงใจคนให้พึ่งรัฐ บัตรคนจนคนละครึ่งเรารักกันเราชนะเที่ยวด้วยกัน ขายความฝันว่าวัคซีนจะปัดเป่าได้ทุกอย่าง การท่องเที่ยวจะกลับมาบูมในสิ้นปี

อำนาจนี้จะมีคนต่อต้านหลากหลายขึ้น แม้ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน พลัง Rebel ของคนรุ่นใหม่ก็จะร้อนแรงขึ้น แม้ยิ่งถูกจับกุมคุมขัง ทางเศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูง ไม่มีความเชื่อมั่น พรรคร่วมรัฐบาลเต็มไปด้วยข้อครหา แตกแยก แต่ไม่ถอนตัว

แล้วหนทางเปลี่ยนแปลงก็ถูกบังคับ ต้องเกิดวิบัติอย่างรุนแรงจึงเปลี่ยนได้

Back to top button