“อาคม” ชะลอต่ออายุ “คนละครึ่ง” เฟส 3 ขอศึกษาข้อมูลรอบด้าน อุดช่องโหว่ทุจริต

“อาคม” ชะลอต่ออายุ “คนละครึ่ง” เฟส 3 ขอศึกษาข้อมูลรอบด้าน อุดช่องโหว่ทุจริต


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา แต่อาจจะไม่เร่งในการพิจารณาออกมาใช้ หรือจะยังชะลอไปก่อน หลังจากที่พบว่ามีผู้อาศัยช่องโหว่ไปเอาเปรียบประชาชน จึงต้องหาทางปิดช่องโหว่ดังกล่าวก่อน รวมถึงยังขอดูตัวเลขเศรษฐกิจและดัชนีชี้วัดต่างๆมาประกอบการตัดสินใจในการต่อมาตรการ”คนละครึ่ง” เฟส 3 แม้ว่าจะเป็นมาตรการที่ประชาชนตอบรับดี สามารถช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อยได้ และสร้างวินัยในการใช้จ่ายให้กับคนไทย

อีกทั้งปัจจุบันมีมาตรการ “ม33เรารักกัน” ที่เริ่มแล้ว และ “เราชนะ” ที่ยังดำเนินการอยู่ รวมถึงโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”  เฟส 3 ที่อนุมัติไปเมื่อวานนี้ (23 มี.ค.64)  จึงทำให้ยังไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ

อนึ่ง มาตรการ “คนละครึ่ง” เฟส 1-2 จะครบกำหนดในวันที่ 31 มี.ค.นี้ โดยมีผู้ที่ได้สิทธิ 15 ล้านคน

“เคยพูดหลายครั้งแล้ว และวันนี้ก็ยังจะพูดเหมือนเดิมว่า โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 จะต้องขอเวลาระยะหนึ่ง ขอเวลาในการประเมินเพราะมีการเอาเปรียบประชาชน ก็ต้องไปดูว่าจะแก้ไขส่วนนี้อย่างไร รวมทั้งต้องมีการพิจารณาถึงดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยว่าเริ่มมีการฟื้นตัวมากแค่ไหน ประชาชนในระดับล่างมีการใช้จ่ายเป็นอย่างไร รัฐบาลเข้าใจดีกว่าโครงการนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะจากผู้มีรายได้น้อย แต่ก็ขอเวลาประเมินผลและพิจารณาแนวทางสักหน่อย” รมว.คลัง กล่าว

สำหรับกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าภาพรวมการท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่ต้องใช้เวลาอีก 5 ปี นั้น รมว.คลัง ระบุว่า 5 ปี ในที่นี้หมายถึงการกลับมาเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามา 40 ล้านคนต่อปี ซึ่งตามข้อเท็จจริงการฟื้นตัวเต็มที่จะต้องใช้เวลา โดยรัฐบาลคาดว่าจะเริ่มเปิดประเทศได้ในปลายปีนี้ ดังนั้นการจะเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา 40 ล้านคนเลยทีเดียวคงเป็นไปไม่ได้

อย่างไรก็ตาม มองว่าหลังจากเริ่มเปิดประเทศในปลายปีนี้ จะเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้นในปี 65 ก่อนที่จะเริ่มกลับมาสูงขึ้นในปี 66 ที่คาดว่าจะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวกลับมาเป็นบวก ซึ่งภาคท่องเที่ยวยังคงต้องทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

นายอาคม กล่าวว่า สิ่งสำคัญในระหว่างนี้คือ การจัดเก็บรายได้ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากภาษี หรือรายได้จากการนำส่งของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเชื่อว่าในช่วงที่เศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในส่วนต่าง ๆ ให้ขยับเพิ่มขึ้นได้เช่นเดียวกัน รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บ และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ก็เดินหน้าสู่การขยายฐานภาษีเพื่อให้คนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะทำควบคู่กับการพิจารณาภาพรวมการใช้จ่ายที่ต้องอยู่ภายใต้หลักการของการประหยัด เน้นลงทุนในโครงการที่คุ้มค่า และต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อมเท่านั้น

“เชื่อว่าหลังจากนี้รายได้ของรัฐบาลจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีแหล่งเงินจากส่วนอื่น ๆ อีก เช่น การกู้เงิน ซึ่งรัฐบาลยังมีช่องว่างที่สามารถทำได้ ทั้งการกู้เพื่อมาลงทุนในโครงการพัฒนาประเทศ และการกู้เพื่อปิดหีบงบประมาณ โดยการกู้เงินจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ” นายอาคม กล่าว

Back to top button