“เครือซีพี” แนะทางรอดศก.ไทย เร่งลดเหลื่อมล้ำ – กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น
“เครือซีพี” แนะทางรอดศก.ไทย เร่งลดเหลื่อมล้ำ – กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ CP กล่าวในการเสวนา เรื่อง “เศรษฐกิจไทยจะไปต่อได้อย่างไร” ว่า โครงสร้างพื้นฐานของสังคมไทยในปัจจุบันที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ โดยประชากรส่วนใหญ่ยังคงมีความยากจน และขาดความมั่นคงทางรายได้ ยกตัวอย่างอาชีพเกษตรกร ซึ่งเป็นการประกอบอาชีพแบบครัวเรือน ยังขาดความรู้ในการบริหารจัดการทรัพยากร การตลาด และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
โดยปัญหาเหล่านี้จะต้องเริ่มแก้จากพื้นที่เล็ก ๆ ก่อน เช่น ระดับตำบล อำเภอ ให้มีความแข็งแกร่งจากพื้นฐานและค่อยขยายสู่ระดับถัดไป สำหรับในประเทศที่มีการพัฒนาด้านเกษตรกรรมแล้วไม่ว่าจะเป็นประเทศทางยุโรป เกาหลี หรือญี่ปุ่น ทางภาคเอกชนได้เข้ามาช่วยเหลือการจัดตั้งสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือ Service Farming ทำให้เกษตรกรในแต่ละพื้นที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อนำไปพัฒนาตนเอง ส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นคงด้านรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายศุภชัย ยังกล่าวถึงพื้นที่เศรษฐกิจในประเทศไทยว่าไม่ได้มีเพียงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor) หรือ SEC ซึ่งสามารถสร้างเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจากมหาสมุทรแปซิฟิกข้ามไปยังมหาสมุทรอินเดีย ทำให้ประหยัดเวลาในการขนส่งสินค้าได้ และจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศขนส่งสินค้าระดับโลก สามารถดึงดูดความสนใจแก่นักลงทุนในแต่ละประเทศให้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน ซึ่งจะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยได้
อีกทั้งยังสามารถต่อยอดเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NorthEastern Economic Corridor) หรือ NeEC ซึ่งพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถเชื่อมไปยังประเทศลาว เวียดนาม และจีนได้ แต่ในขณะเดียวกัน จะต้องคำนึงถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในหลายภูมิภาค ทำให้มีการเชื่อมต่อกับประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกไม่ว่าจะเป็นจีนหรืออินเดีย ซึ่งจะต้องสร้างความสัมพันธ์ในแต่ละประเทศให้เหมาะสมอีกด้วย
ทั้งนี้ นายศุภชัย ยังได้ยกตัวอย่างโอกาสการพัฒนาของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้เสนอแนวคิดการท่องเที่ยวแบบฉีดวัคซีน เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ก็จะได้รับการฉีดวัคซีนไปด้วย และในปัจจุบันที่มีเทรนด์การทำงานแบบไม่จำกัดสถานที่ ซึ่งประเทศไทยมีสถานที่ที่สวยงาม สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อทำงานและพักผ่อนไปพร้อมกันได้ อีกทั้งยังมีแนวคิดการท่องเที่ยวเพื่อหาซื้อบ้าน ซึ่งถ้าหากนักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยก็จะสร้างรายได้ให้ทั้งธุรกิจท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงเกิดการจ้างงานและการเสียภาษีให้ประเทศอีกด้วย
ในอุตสาหกรรมเกษตร ยังคงให้ความสำคัญไปที่การจัดการน้ำ เพราะน้ำคือปัจจัยหลักสำหรับทำการเกษตร จะต้องมีการเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งอย่างเพียงพอ ปัจจุบันอยู่ในช่วงทดลองโมเดลการสร้างบ่อเก็บน้ำ โดยจะต้องขุดให้มีขนาดใหญ่และลึกมากพอเพื่อให้มีน้ำอย่างต่อเนื่อง จากนั้นจึงต่อท่อเพื่อกระจายให้กับเกษตรกรในพื้นที่
ส่วนอุตสาหกรรมเทคโนโลยี จะต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น Automation หรือ Robotics เพื่อตอบสนองนักลงทุนต่างชาติให้ทัน เพราะประเทศไทยมีความพร้อมเรื่องโรงงานและทรัพยากรอยู่แล้ว หากปรับตัวตามกระแสไม่ทัน นักลงทุนอาจจะให้ความสนใจไปยังประเทศอื่น ซึ่งทำให้เสียโอกาสทางเศรษฐกิจ และในส่วนของข้อมูลดิจิตัล ปัจจุบันมีการตั้งเซิร์ฟเวอร์ และ Cloud Technology ในประเทศสิงคโปร์ เพื่อประมวลข้อมูลดิจิตัลของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยควรจะมีการจัดตั้งศูนย์ประมวลข้อมูลในประเทศเอง
ขณะที่อุตสาหกรรมการศึกษา จะต้องสนับสนุนเด็กเรื่องอุปกรณ์การเรียนรู้ และคอยสนับสนุนให้เด็กเรียนรู้จากการตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเศรษฐกิจ สังคมหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้เด็กหันมาสนใจและต้องการขับเคลื่อนสังคมให้มีคุณภาพที่ดี รวมไปถึงถ้าเด็กคนไหนที่สนใจธุรกิจ Start up ภาคเอกชนก็ควรเข้ามาเปิดโอกาสให้เด็กได้เจอประสบการณ์จริงด้วยการดูงานหรือฝึกงาน เพื่อพัฒนาการศึกษาของเด็กอีกด้วย