BBL นำร่องให้บริการ Cross-Border QR Payment ชำระค่าสินค้า ไทย-เวียดนาม เจ้าแรก
BBL นำร่องให้บริการ Cross-Border QR Payment ชำระค่าสินค้าและบริการ ระหว่างไทย-เวียดนาม เป็นเจ้าแรก ระยะแรกรองรับชาวเวียดนามที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือชาวไทยที่ทำงานในเวียดนาม รวมถึงกรณีการสั่งซื้อสินค้าข้ามประเทศผ่านระบบออนไลน์
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ธนาคารได้เข้าร่วมให้บริการเป็นธนาคารแรก และได้รับคัดเลือกให้เป็น Settlement Bank (ธนาคารที่รับผิดชอบการชำระดุลสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ) ในบริการ Cross-Border QR Payment ระหว่างประเทศไทยและเวียดนาม โดยบริการ Cross-Border QR Payment เป็นความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ธนาคารกลางประเทศเวียดนาม State Bank of Vietnam (SBV) เพื่อให้บริการ Cross-Border QR Payment ระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ใช้ QR Code ในการชำระค่าสินค้าและบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวก สร้างประสบการณ์ที่ดี และช่วยลดต้นทุนทางการเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งช่วยพัฒนาและเติมเต็ม Ecosystem โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินระหว่างภูมิภาคให้เชื่อมโยงกันได้อย่างสมบูรณ์เพิ่มมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ด้วยบริการ Cross-Border QR Payment ดังกล่าว จะทำให้ลูกค้าสามารถใช้แอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking สแกนเพื่อชำระเงินผ่านบริการ Cross-Border QR Payment ในเวียดนามได้ ขณะเดียวกันลูกค้าของธนาคารประเทศเวียดนามที่เข้าร่วมบริการ ก็สามารถชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ในประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน ทั้งปลอดภัยและยังสะดวกมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าชำระเป็นสกุลเงินของประเทศตัวเองและจะมีต้นทุนค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำกว่าการจ่ายด้วยบัตรเครดิตหรือเดบิต
โดยระบบ QR Payment ยังเป็นที่แพร่หลายและเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับชำระเงินของร้านค้า เนื่องด้วยเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าได้ เช่น ร้านค้าจะไม่พลาดโอกาสในการขายหากลูกค้าไม่ได้พกเงินสดไว้เพียงพอต่อการซื้อสินค้า ขณะที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคก็คุ้นชินและนิยมชำระเงินด้วย QR Code เพิ่มมากขึ้น จึงมีร้านค้าต่างๆ รองรับเป็นจำนวนมาก โดยในระยะแรกนี้ ร้านค้าในเวียดนามที่รับชำระด้วย QR Payment ของ Bangkok Bank Mobile Banking จะเป็นร้านค้าในแหล่งท่องเที่ยวหรือเมืองเศรษฐกิจ อาทิ โฮจิมินห์ซิตี้ ดานัง และ มุยเน่ เป็นต้น รวมไปถึงร้านกาแฟท้องถิ่นชั้นนำต่างๆ ในเวียดนาม
นอกจากการใช้งานสะดวก ต้นทุนค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกลง รวมทั้งมีร้านค้าที่รองรับระบบ QR Payment จำนวนมากแล้ว อย่างไรก็ดี พฤติกรรมผู้บริโภคได้ปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก และคุ้นเคยกับระบบชำระเงินแบบดิจิทัลมากขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เห็นได้จากปริมาณการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payments) ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงการชำระเงินด้วย QR Code ในปี 2563 มีมากถึง 13.39 ล้านรายการ เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า (2562) ถึง 49.14% ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่า หากเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น การเดินทางข้ามพรมแดนและท่องเที่ยวเริ่มทยอยฟื้นตัว บริการ Cross-Border QR Payment จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน
“ในระยะแรกนี้ บริการ Cross-Border QR Payment อาจจะตอบโจทย์ความต้องการใช้งานได้เฉพาะกลุ่ม เช่น ชาวเวียดนามที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือชาวไทยที่ทำงานในเวียดนาม รวมถึงกรณีการสั่งซื้อสินค้าข้ามประเทศผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น แต่เชื่อมั่นว่าในอนาคตที่สถานการณ์ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่อนคลายลง การเดินทางท่องเที่ยวเริ่มกลับมา การเดินทางในระยะใกล้ระดับภูมิภาคที่น่าจะเริ่มกลับมาได้ก่อน โดยเฉพาะกับประเทศที่มีระบบจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีอย่างไทย และเวียดนาม เชื่อมั่นว่าบริการ Cross-Border QR Payment ผ่าน Bangkok Bank Mobile Banking ก็พร้อมขยายเพิ่มเติมสำหรับการใช้งานวงกว้างในอนาคตได้ทันที”
ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาการให้บริการ Cross-Border QR Payment ผ่าน Bangkok Bank Mobile Banking สะท้อนถึงความตระหนักของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินระหว่างประเทศให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้ง Ecosystem ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งภูมิภาค รวมถึงการส่งเสริมที่ดีจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจสถาบันการเงินในประเทศไทย ขณะเดียวกัน ยังเป็นความมุ่งมั่นของธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ “เพื่อนคู่คิด” ที่พร้อมอยู่เคียงข้างและมอบประสบการณ์ที่ดีในทุก Touchpoint ให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การเติบโตที่สำคัญของธนาคาร ทั้งยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการเป็น “ธนาคารผู้นำระดับภูมิภาค” อีกด้วย
อนึ่ง ธนาคารประเทศเวียดนามที่เข้าร่วมบริการ ในระยะแรกนี้ ประกอบด้วย Tien Phong Commercial Joint Stock Bank (TPBank) และ Bank for Investment and Development of Vietnam (BIDV)