BANPU บวก 5.37% คาดเก็งงบไตรมาส 3 พุ่งทะลัก 2,000 ลบ.ทำนิวไฮของปี
BANPU บวก 5.37% คาดเก็งงบไตรมาส 3 พุ่งทะลัก 2,000 ลบ.ทำนิวไฮของปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ณ เวลา 15.41 น. อยู่ที่ระดับ 21.60 บาท บวก 1.10 บาท หรือ 5.37% ด้วยมูลซื้อขาย 794.15 ล้านบาท
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ขณะนี้ได้ปรับเพิ่มคำแนะนำในการลงทุนหุ้นบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ขึ้นเป็น “ซื้อ” จากเดิม “ถือ” ทั้งในเชิงการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมกับคาดกำไรไตรมาสที่ 3/58 จะสูงแตะระดับ 2 พันล้านบาท ทำจุดสูงสุดของปี
สำหรับงวดไตรมาส 2/58 ที่ทำกำไรแตะระดับ 2 พันล้านบาท เป็นผลมาจากปริมาณผลิตของบริษัทที่สูงขึ้น รวมถึงบริษัทยังมีรายได้จากธุรกิจพลังงานทั้ง BLCP และหงสา พาวเวอร์ ประกอบกับบริษัทยังได้บันทึกกำไรพิเศษจากอัตราแลกเปลี่ยน
โดยในระยะสั้น ประเด็นราคาหุ้น BANPU ที่อ่อนตัวลงล่าสุดทำให้อัพไซด์ต่อราคาเป้าหมาย 12 เดือนที่ 24.70 บาทมีระดับกว้างขึ้นกว่า 18% รวมถึงประเมินงวดในไตรมาส 3/58 ยังเติบโต และมีศักยภาพในการฟื้นตัวในราคาถ่านหินประเภทให้ความร้อนในไตรมาส 4/58 อาจเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันราคาหุ้นได้
นอกจากนี้ มองว่าราคาหุ้นปัจจุบันที่อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อเชิงการลงทุนระยะยาวของฝ่ายวิเคราะห์ อิงประเด็นการปลดล็อกมูลค่าจากการนำ BPP จดทะเบียน บวกกับการฟื้นตัวของกำไรที่มีแรงขับเคลื่อนมาจากการขยายกิจการโรงไฟฟ้าของ BANPU ในช่วงปี 2559-2560 ดังนั้น นักลงทุนจึงสามารถเข้าลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าและได้รับสินทรัพย์ธุรกิจถ่านหินไปในตัวโดยแทบจะไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/58 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 54 ล้านบาท รวมผลการดำเนินงานงวดครึ่งแรกปี 2558 มีกำไรสุทธิจำนวน 14 ล้านบาท ขณะที่งวดไตรมาส 3/57 มีกำไรสุทธิจำนวน 131 ล้านบาท และงวดปี 2557 มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 2,679 ล้านบาท
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3/58 ของ BANPU จะปรับตัวดีขึ้นอีกครั้ง เนื่องจาก 1.ในออสเตรเลียไม่มีแผนย้าย Long wall ของเหมือง Mandalong อย่างในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตขยับขึ้นเป็น 3.9 ล้านตัน จากเดิม 3 ล้านตันในไตรมาส 2/58
2.ระดับราคาดีเซลที่อ่อนตัวลงมาตามราคาน้ำมันดิบ คาดจะช่วยหนุนต้นทุนการผลิตของเหมืองในอินโดนีเซีย โดยราว 20-25% ของต้นทุนการผลิตซึ่งราคาดีเซลปัจจุบันลดลงมาต่ำกว่า 0.55 เหรียญต่อลิตรเทียบกับค่าเฉลี่ย 0.61 เหรียญต่อลิตรในไตรมาส 2/58
3.การกลับมาเดินเครื่องตามปกติของโรงไฟฟ้า BLCP ทั้งรับรู้การเดินเครื่องเต็มไตรมาสสำหรับหน่วยแรกของโรงไฟฟ้า Hongsa คาดจะช่วยเพิ่มกำไรของธุรกิจโรงไฟฟ้าอีกกว่า 500 ล้านบาท 4.แนวโน้มค่าเงินบาทที่ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องคาดจะช่วยหนุนให้ยังคงมีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน กำหนดคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 28 บาท
ขณะที่ความเคลื่อนไหวล่าสุด หุ้น BANPU ปิดการซื้อขายที่ 20.50 บาท ปรับลดลง 0.30 บาท หรือคิดเป็น 1.44% เมื่อเทียบกับราคาปิดก่อนหน้า ดังนั้น จากราคาปิดที่ 20.50 บาท เท่ากับมีอัพไซด์รวมถึง 36% เมื่อเทียบกับราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่นักวิเคราะห์กำหนดไว้ 28 บาท