พาราสาวะถี
รู้อยู่แก่ใจเป็นอย่างดีกับคนที่ไร้อุดมการณ์ งานทุกวันคือการเชลียร์สอพลอคนที่ตัวเองไปสยบยอมอยู่ใต้อุ้งเท้าเผด็จการ ดังนั้น การออกมากระตุกสำนึกสำเหนียกของ จตุพร พรหมพันธุ์ ของ เสกสกล หรือ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ คนที่ไม่สมควรได้รับฉายาว่าแรมโบ้อีสานอีกต่อไป ต่อการที่ประธานนปช.ชวนประชาชนร่วมระดมความเห็นจัดขบวนความคิดในวันที่ 4 เมษายนนี้เพื่อไล่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ด้วยการดักคอว่า ระวังจะถูกผสมโรงล้มสถาบัน ถือเป็นข้อกล่าวหาที่ถูกนำมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อไปแล้วสำหรับรัฐบาลนี้
อรชุน
รู้อยู่แก่ใจเป็นอย่างดีกับคนที่ไร้อุดมการณ์ งานทุกวันคือการเชลียร์สอพลอคนที่ตัวเองไปสยบยอมอยู่ใต้อุ้งเท้าเผด็จการ ดังนั้น การออกมากระตุกสำนึกสำเหนียกของ จตุพร พรหมพันธุ์ ของ เสกสกล หรือ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ คนที่ไม่สมควรได้รับฉายาว่าแรมโบ้อีสานอีกต่อไป ต่อการที่ประธานนปช.ชวนประชาชนร่วมระดมความเห็นจัดขบวนความคิดในวันที่ 4 เมษายนนี้เพื่อไล่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ด้วยการดักคอว่า ระวังจะถูกผสมโรงล้มสถาบัน ถือเป็นข้อกล่าวหาที่ถูกนำมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อไปแล้วสำหรับรัฐบาลนี้
ทั้งที่ก่อนหน้า ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเคยประกาศว่าจะไม่นำกฎหมายมาตรา 112 ออกมาใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้าม แต่ปรากฏว่าหลังจากที่ม็อบเคลื่อนไหวเข้มข้นก็มีการงัดออกมาจัดการกันอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่า ในกรณีที่กระทำความผิดชัดเจนตรงนั้นละเว้นไม่ได้ แต่การที่มีบางรายไปแจ้งความเอาผิดบนความเชื่อของตัวเอง แล้วให้ตำรวจไปพิสูจน์ทราบเอาเองนั้น นี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจเพราะเท่ากับเป็นการนำเอาเรื่องของสถาบันมาปกป้องตัวเอง และมาใช้ทางการเมืองอย่างไม่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ตาม หากมั่นใจว่าตัวเองเป็นคนดีก็ไม่เห็นที่จะต้องหวั่นไหวต่อข้อกล่าวหาที่ว่า “ประยุทธ์คือปัญหาของประเทศ” ควรจะก้มหน้าก้มตาทำงานไปแล้วให้ผลงานเป็นเกราะกำบัง หากทำดีมีผลงาน ประชาชนอยู่ดีกินดี มั่นคง มั่งคั่งใครก็ไม่สามารถที่จะมาล้มรัฐบาลนี้ได้ เว้นแต่จะเกิดจากปลายกระบอกปืน แต่เมื่อรู้อยู่แก่ใจว่า 7 ปีที่บริหารประเทศมานั้น ไม่ได้สร้างอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ในประเทศให้ดีขึ้นได้
ดังนั้น เมื่อเกิดการขยับของรุ่นใหญ่ต่อการเคลื่อนไหวโดยมีเป้าหมายเพื่อล้มหัวขบวนของขบวนการสืบทอดอำนาจ บรรดาลิ่วล้อสอพลอทั้งหลายจึงเต้นผางกันทุกราย ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่ใช่แค่จตุพรเท่านั้นที่กำลังเดินเกมประสานความร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายที่เคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยเพื่อตั้งลำเตรียมความพร้อมในการไล่ประยุทธ์ ยังมีสิ่งที่เกิดมาในเวลาที่ไล่เลี่ยเป็นคู่ขนานกันด้วย
นั่นก็คือ การนัดพบปะพูดคุยกันในกลุ่มคนเดือนตุลาฝั่งประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา และรวมตัวกันโดยใช้ชื่อว่า “OCTDEM” โดยในวงหารือมองว่า สถานการณ์ปัจจุบันน่าเป็นห่วง ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์ และยังมีอุดมการณ์อยู่ ควรทำประโยชน์เพื่อหนุนช่วยการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันคนรุ่นนี้ที่อาวุโส มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ และมีฐานะทางสังคม หากส่งเสียงออกไปก็น่าจะมีผลให้รัฐ และสังคมต้องรับฟังอยู่บ้าง
น่าสนใจตรงที่ปัญหาที่ทางกลุ่ม OCTDEM มองเห็นและเป็นห่วงในปัจจุบันนั่นก็คือ ปัจจุบันรัฐไทยไม่มีความเป็นนิติรัฐ นิติธรรม กระทำการละเมิดกฎหมายเสียเอง เช่น การใช้ม.112 อย่างพร่ำเพรื่อ การไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหา การกระทำเกินกว่าเหตุของตำรวจ ทั้งการฉีดน้ำ การใช้แก๊สน้ำตา การใช้กระสุนยาง การจับกุมเยาวชนที่เป็นนักเรียน เป็นต้น โดยทางกลุ่มจะเป็นช่องทางดำเนินการช่วยกันเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่รัฐขาดความเป็นนิติรัฐ นิติธรรม
ขณะเดียวกัน ก็จะเรียกร้องต่อบุคลากรในวงการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้ออกมาส่งเสียง รวมทั้งเรียกร้องต่อฝ่ายตุลาการให้อำนวยให้เกิดความยุติธรรม และปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานของความยุติธรรม ด้วยการให้ประกันตัวกับผู้ต้องหาในคดีทางการเมือง สิ่งที่กลุ่มดังกล่าวมีเหมือนกับสิ่งที่จตุพรกำลังเคลื่อนไหวนั่นก็คือ มีการเคลื่อนไหวในลักษณะเปิดเผย เปิดกว้าง เป็นที่รวมของผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองเดือนตุลาคม 2516-2519 ที่มาจากหลากหลายอาชีพ
สำหรับผู้ที่ร่วมระดมความเห็นเป็นการประเดิม เช่น เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยหรือศนท. จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการพรรคแนวร่วมมหิดล สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล กฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุรชาติ บำรุงสุข อดีตอุปนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
ทั้งนี้ กรณีของกลุ่ม “OCTDEM” อาจถูกมองหรือถูกตีตราจากอีกฝ่ายว่าไปเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองบางพรรค เพราะคนที่เข้าร่วมยังมีส่วนกับกลุ่มแคร์และแนบแน่นกับพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การลุกขึ้นมาเพื่อเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้ หากเดินหน้าอย่างเอาจริงเอาจังต้องยอมรับว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมได้มากทีเดียว งานแรกที่ผ่านไปคือการเข้าร่วมคลับเฮาส์ของกลุ่มแคร์และฟังการบรรยายหัวข้อศาล หลักนิติธรรม กับความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทย โดย ธงชัย วินิจจะกูล จากภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา
มีประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้จากมุมมองของธงชัยบนเวทีดังกล่าว ที่เขาตอกย้ำว่า ประเทศไทยไม่เคยเป็นนิติรัฐ มันเป็นประเด็นที่เคยเสนอเมื่อปีที่แล้ว แต่การพูดอย่างนี้ไม่ใช่การประชดแดกดันเพราะถ้าพูดตามหลักวิชาจริง ๆ ว่า นิติรัฐหมายถึงอะไร rule of law หมายถึงอะไร legal state หมายถึงอะไร อย่างที่เขาเชื่อถือกันเป็นหลักสากล จะพบว่าประเทศไทยไม่เข้าข่ายและมีหลักพื้นฐานบางอย่างซึ่งตรงข้ามกับความเป็น legal state หรือ rule of law ด้วยซ้ำไป
ระบบกฎหมายของไทยให้อภิสิทธิ์แก่รัฐอย่างมาก ให้อภิสิทธิ์ที่ไม่ต้องรับความผิด Impunity นี่เปรอะในสังคมไทย ใช้กันจนจิปาถะ ที่ใช้กันหนักก็คือกฎหมายนิรโทษกรรมทุกครั้งที่มีการรัฐประหารซึ่งเป็นอภิสิทธิ์ปลอดความผิดขนาดยักษ์ แถมยังมีอภิสิทธิ์ปลอดความผิดที่ถูกบัญญัติให้ไม่เป็นความผิดคือการยกเว้นไม่ต้องรับความผิด เป็นสิ่งที่กฎหมายรังเกียจ ขยะแขยงอย่างยิ่ง แต่ประเทศไทยทำกันจนเป็นปกติ ทั้งหลังการรัฐประหารทุกครั้งและในขณะที่รัฐโดยเฉพาะในระบบทหารและรัฐที่มีอำนาจมาก
บทสรุปของธงชัยที่เป็นเหมือนการวางแนวสำหรับกลุ่มเคลื่อนไหวใช้ในการต่อสู้คือ เรื่องอภิสิทธิ์ปลอดความผิดและเรื่องความมั่นคงที่ต้องจับให้มั่นและสู้มันเข้าไป เพราะรัฐยกเรื่องความมั่นคงมาเป็นเหตุเล่นงานประชาชนเสมอ ยิ่งประชาชนเข้มแข็งรัฐก็ยิ่งไม่มั่นคง ยิ่งเขารักษาความมั่นคง ประชาชนก็ยิ่งแย่หรือพูดอีกอย่างก็คือว่าเขาต้องทำให้ประชาชนอ่อนแอรัฐจึงจะมั่นคง