SAWAD / KTC ใครถึง 100 บาทก่อน
ทั้ง 2 หลักทรัพย์ SAWAD และ KTC
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
ทั้ง 2 หลักทรัพย์ SAWAD และ KTC
ต่างเป็นหุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ที่นักลงทุนให้ความสนใจสูงมาก มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไป
ประเด็นที่น่าสนใจของหุ้นไฟแนนซ์ 2 ตัว เริ่มจาก SAWAD กันก่อน
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา SAWAD วุ่นวายอยู่กับการปรับโครงสร้างทางธุรกิจค่อนข้างเยอะ
ทำให้การเดินหน้าลุยธุรกิจเต็มตัว ทำได้ไม่คล่องตัวนัก
ประกอบการปรับเปลี่ยนไปเป็นไฟแนนซ์ที่ต้องเข้าไปอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ยิ่งทำให้ต้องเปลี่ยนตัวเองไปจากเดิม
ทว่า หลังจากการปรับโครงสร้างทางธุรกิจแล้วเสร็จ
เราจะเห็นโฉมหน้าใหม่ของหุ้น SAWAD ที่ไม่ได้ทำธุรกิจเป็นเพียงแค่สินเชื่อจำนำทะเบียน
แต่ยังมีสินเชื่อรถที่มีทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และยังมีสินเชื่อส่วนบุคคลอีก
นี่ยังไม่รวมถึงการเป็นไฟแนนซ์ที่สามารถระดมเงินฝากได้ นอกเหนือไปจากการออกหุ้นกู้ที่อาจจะมีต้นทุนทางการเงินสูงกว่า (ระดมเงินฝาก)
ในด้านพันธมิตรทางธุรกิจ
ล่าสุดคือจับมือกับธนาคารออมสินร่วมลุยสินเชื่อจำนำทะเบียนผ่านบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด
ถือเป็นกลยุทธ์ธุรกิจ และการตลาดที่ชาญฉลาดมาก
เพราะสามารถที่จะขยายฐานลูกค้าผ่านเครือข่าย และฐานลูกค้าของแบงก์ออมสินได้ โดยไม่ต้องไปลงทุนเพิ่มเติมอะไรมากเกี่ยวกับเรื่องสาขาต่าง ๆ
แผนธุรกิจใหม่ของ SAWAD ทำให้ราคาหุ้นค่อย ๆ ดีดกลับขึ้นมา และขึ้นไปทำ All Time High หรือสถิติสูงสุดที่ระดับ 89.256 บาท เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564
บทวิเคราะห์ล่าสุดของ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ราคาเป้าหมาย SAWAD ไว้ที่ระดับ 101 บาทต่อหุ้น
ส่วน บล.แห่งอื่น ๆ ให้ราคาเป้าหมายไว้ระหว่าง 85 – 98 บาทต่อหุ้น
SAWAD ระดับ P/E Ratio อยู่ที่ 26 เท่า และ P/BV ที่ 5.33 เท่า มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคปกว่า 1.17 แสนล้านบาท
ส่วนผลตอบแทนเงินปันผลหรือ Dividend Yield อยู่เฉลี่ย 2.10%
และมีอัตรากำไรสุทธิปี 2563 จำนวน 4,508 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 20%
ราคาหุ้นเฉลี่ยปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ที่ 85 – 87 บาทต่อหุ้น
มาถึง บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC
เคทีซี มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจมาต่อเนื่อง
จากเดิมที่ให้น้ำหนักเรื่องของบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทต่าง ๆ นาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ ฯลฯ
กระทั่งมาถึงสินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเช่าซื้อ
ปัจจุบัน เคทีซีมีมาร์เก็ตแคป 2.09 แสนล้านบาท
หรือมากกว่าธนาคารกรุงไทย ในฐานถือหุ้นใหญ่ในเคทีซีที่มีมาร์เก็ตแคปอยู่ 1.70 แสนล้านบาท
เคทีซีในช่วงหลัง ได้หันมาลุยสินเชื่อทางด้านรถมากขึ้น เพราะอัตรามาร์จิ้น หรือดอกเบี้ยที่ได้รับจะดีกว่าบัตรเครดิต ที่ถูกแบงก์ชาติปรับลดลงมาจาก 18% เหลือเพียง 16%
การขยับของเคทีซีที่น่าสนใจคือ การเข้าไปซื้อหุ้น KTB Leasing
KTB Leasing เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อลีสซิ่ง เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล รถบรรทุก รถบัส และยังมีสินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อรายย่อย
KTB Leasing มีพอร์ตสินเชื่ออยู่ราว ๆ 4.9 พันล้านบาท
การได้ KTB Leasing น่าจะทำให้เคทีซีต่อยอดธุรกิจด้านสินเชื่อรถได้คล่องตัว และมีโอกาสสร้างความเติบใหญ่ได้
ราคาหุ้นของเคทีซีวิ่งขึ้นมารับข่าวดังกล่าวก่อนหน้านี้แล้ว
และเมื่อมีข่าวออกมาคอนเฟิร์ม ทำให้ราคาหุ้นย่อตัวลงมาบ้าง ก่อนจะค่อย ๆ ดีดกลับขึ้นมาอีกครั้ง
All Time High ราคาหุ้น KTC อยู่ที่ 90.25 บาทต่อหุ้น เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 หรือก่อนที่จะมีข่าวเคทีซีเข้าซื้อ KTB Leasing เพียงไม่กี่วันเท่านั้น
ในมุมของนักวิเคราะห์ต่อหุ้นเคทีซี
ต่างมีมุมมองเชิงบวกขึ้น พร้อมกับเริ่มมีการขยับราคาเป้าหมายขึ้นไปบ้าง เพื่อสะท้อนถึงโอกาสทางธุรกิจที่เคทีซีจะได้รับหลังการเข้าซื้อ KTB Leasing
ปัจจุบัน P/E Ratio ของเคทีซีอยู่ที่ 39 เท่า และ P/BV ที่ 9.19 เท่า
ส่วนผลตอบแทนเงินปันผลหรือ Dividend Yield อยู่เฉลี่ย 1.08%
ปี 2563 เคทีซี มีกำไรสุทธิ 5,332 ล้านบาท ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน
ราคาหุ้นล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่บริเวณ 80 บาท บวก/ลบ เล็กน้อย
ทั้ง SAWAD และ KTC ถือเป็นหุ้น Growth Stock หรือมีอัตราการเติบโตโดดเด่นกว่าตลาด
มาลุ้นกันว่าใครจะขึ้นไปแตะหลัก 100 บาทก่อนกัน