วัคซีน (ไทย) หวานเย็น

อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ประกาศเป้าหมายใหญ่ จะฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 จำนวนทั้งสิ้น 63 ล้านโดส (61+2 เป็นแอสตราเซเนกาและซิโนแวคตามลำดับ) ครอบคลุมประชากร 37ล้านคนให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ 2564


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ประกาศเป้าหมายใหญ่ จะฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 จำนวนทั้งสิ้น 63 ล้านโดส (61+2 เป็นแอสตราเซเนกาและซิโนแวคตามลำดับ) ครอบคลุมประชากร 37ล้านคนให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ 2564

ดูเหมือนดี เท่ากับสิ้นปีนี้ ประชาชนคนไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนประชากร แต่ในทางปฎิบัติก็ยังน่าสงสัยว่าจะทำได้ถึงครึ่งที่ให้คำมั่นสัญญาไว้หรือไม่

มาดูภาคปฏิบัติจริงกัน ก็พอจะบอกอะไรเลา ๆ ได้ เพราะตั้งแต่ปักวัคซีนเข็มแรกฉีดคนไทยเมื่อ 28 ก.พ.-28 มี.ค. ครบรอบ 1 เดือนพอดี กระทรวงสาธารณสุขฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 154,293 โดส แยกเป็นการฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 133,110 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 21,183 ราย

เท่ากับ 1 เดือนหรือ 30 วัน ฉีดวัคซีนไปได้โดยเฉลี่ยแค่ 1.54 แสนโดสเอง หากคิดเฉลี่ยเป็นรายวัน ความสามารถในการฉีดวัคซีนจะได้แค่ 5,143 โดส

จาก 28 มี.ค.ไปอีก 3 วัน ให้ครบสิ้นเดือน คือ 29-30-31 มี.ค. หากคิดตามความสามารถที่ทำได้วันละ 5,143 โดส ก็จะฉีดได้เพิ่มอีก 15,429 โดส คิดเป็นยอดการฉีดวัคซีนรวม ณ สิ้น มี.ค. จำนวน 169,722 โดส

เท่ากับว่าเวลาที่เหลืออีก 9 เดือน (เม..-..) กระทรวงสาธารณสุขต้องมีการจัดการให้คนไทย ได้ฉีดวัคซีนถึง 62,830,278 โดส หรือเฉลี่ยเดือนละ 6,981,142 โดสเลยทีเดียวนะ

คุณหมอหนู” ไหวเหรอ! จากเคยฉีดเดือนละ 1.5 แสนโดส ต้องมาฉีดเดือนละ 6.9 ล้านโดส หรือจากเคยฉีดรายวัน วันละ 5.1 พันโดส ต้องมาฉีดให้ได้วันละ 2.3 แสนโดส

ยิ่งมาเจอกับแนวทางการบริหารจัดการที่กระจุกตัวกับกระทรวงสาธารณสุขที่เดียว ก็ยิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย ที่จะให้คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ครบ 63 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 ตามที่รมว.สาธารณสุขได้ลั่นวาจา

ทั้งที่ภาคเอกชนมากมาย ก็พร้อมจะออกค่าใช้จ่ายฉีดวัคซีนให้พนักงานของเขา ไม่ว่าจะได้รับการอุดหนุนหรือไม่อุดหนุนจากรัฐบาลก็ตาม

และก็ทั้งที่โรงพยาบาลเอกชน ก็มีความพร้อมจะให้บริการฉีดวัคซีนแก่ลูกค้าโรงพยาบาล ทั้งการนำเข้ามาเอง และการขอซื้อต่อจากองค์การเภสัชกรรมรัฐบาล ซึ่งว่าไปแล้วการฉีดวัคซีนเข็มละ 1-2 พันบาท ก็ไม่ได้มีราคาแพงมากมาย และเป็นอุปสรรคต่อกระเป๋าสตางค์อะไรเลย

ย่อมดีกว่าการรอคอยรอบเวียนการจัดสรรจากรัฐบาล ซึ่งไม่รู้จะมาเมื่อไหร่แน่นอน!

สิ่งที่น่าห่วงยังมีอีก 2 เรื่องครับ นั่นคือ “โรดแมปการท่องเที่ยว” ซึ่งจะเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบจำกัดจากมากไปหาน้อยนั้น ผมว่าในขณะที่เราเรียกร้องคุณสมบัติอาคันตุกะนักท่องเที่ยวต้องมีใบฉีดวัคซีน แต่คนชาติเจ้าบ้านอย่างเรากลับได้รับการฉีดวัคซีนน้อยนิดมาก

แค่ 1.69 แสนโดสตอนนี้ มันแค่ 0.25% ของประชากรไทยเอง ยังห่างไกลต่อนัยยะ “ภูมิคุ้มกันหมู่” มากนะ และมันก็น่าละอายแก่ใจอยู่หรอก ที่เราไปบังคับแขกต่างเมืองให้มี “วัคซีน พาสปอร์ต” แต่เจ้าบ้านกลับเป็น “ปัจจัยเสี่ยง” เสียเอง ที่จะเอาเชื้อไปติดเขา

โรดแมปท่องเที่ยวโดยสังเขป จะเริ่มต้นจากไตรมาส 2 (1 เม.ย.-30 มิ.ย.) ที่จะมีการเปิดพื้นที่หลัก 7 แห่งได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา เกาะสมุย พัทยา และเชียงใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยวที่ผ่านการฉีดวัคซีน โดยให้มีการกักตัวในโรงแรมเป็นเวลา 7 วัน

ไตรมาส 3 (1 ก.ค.-30 ก.ย.) จะยกภูเก็ตเป็น “แซนด์บ็อกซ์” เปิดให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัดซีนครบ 2 โดส เข้ามาในพื้นที่ภูเก็ตได้โดยไม่ต้องรับการกักตัว แต่ต้องอยู่ในภูเก็ตอย่างน้อย 7 วัน จึงจะเดินทางไปที่อื่นในราชอาณาจักรได้

สำหรับไตรมาสที่ 4 เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.ไปถึง 31 ธ.ค.ก็จะใช้โมเดล “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” กับพื้นที่นำร่องอีก 6 แห่งดังกล่าว ส่วนปีหน้าจะหดจะเพิ่มอะไร ค่อยมาว่ากันอีกที

นอกจากนี้ อีกเรื่องที่น่าห่วงก็คือ “อายุวัคซีน” ซึ่งอายุใช้งานโดยเฉลี่ยทั่วไปก็ในราว 3 เดือน เมื่อต้องขยายกำลังการฉีดวัคซีนเพิ่มจากเดือนละ 1.5 แสนโดส มาเป็น 6.9 ล้านโดสอย่างเนี้ย มันน่าตกใจมากนะครับ

ตกใจว่าวัคซีนจะหมดสภาพไปเสียก่อน และต้องเสียเงินเปล่าไปฟรี ๆ นับพันล้านบาท

อย่ามัว “แกว่งปาก” เสียเวลานักเลย เอาเวลามาคิดปรับระบบฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง และหนีให้ทันวัคซีนหมดอายุ ยังจะดีเสียกว่า

Back to top button