สัญญาณทางเทคนิค และ ข่าวลือร้าย
ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทย เมื่อวันจันทร์ปรับตัวลงในช่วงการซื้อขายระหว่างวันค่อนข้างแรง เกือบ 20 จุด แต่ท้ายสุดท้ายตลาดก็มีแรงซื้อกลับเข้ามา ทำให้ดัชนีปิดลบไปไม่มากนัก
พลวัตปี 2021 : วิษณุ โชลิตกุล
ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทย เมื่อวันจันทร์ปรับตัวลงในช่วงการซื้อขายระหว่างวันค่อนข้างแรง เกือบ 20 จุด แต่ท้ายสุดท้ายตลาดก็มีแรงซื้อกลับเข้ามา ทำให้ดัชนีปิดลบไปไม่มากนัก
การปรับตัวเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นไปตามสัญญาณทางเทคนิค หลังจากที่ดัชนีปรับขึ้นมาแรงปลายเดือนมีนาคม จนทำท่าทะลุแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยาที่ 1,600 จุด หลังจากที่ทำนิวไฮในรอบปีมาได้ แต่น่าเสียดายไม่สามารถผ่านแนวต้านดังกล่าวได้
โดยหลักการทั่วไป ของสัญญาณทางเทคนิค เมื่อไม่สามารถผ่านแนวต้านได้ ก็ต้องย่อตัวลงมา เพื่อหาแรงซื้อระลอกใหม่ช่วยดันดัชนีให้กลับขึ้นไปทดสอบแรงต้านเดิมครั้งใหม่ ว่าจะยังคงตั้งรับรุนแรงแค่ไหน
การปรับตัวลงของดัชนี หลังจากไม่ผ่านแนวต้านสำคัญครั้งแรก จึงต้องเป็นไปตามกฎ “ปรับมาก ก็จะมีแรงส่งมาก ปรับน้อย จะมีแรงส่งน้อย”
การเรียนรู้ทิศทางของราคาหุ้นตามสัญญาณทางเทคนิค จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ “ทำลายอย่างสร้างสรรค์” อีกรูปแบบหนึ่งในตลาดเก็งกำไร
แน่นอนว่า การปรับตัวลงของดัชนีและราคาหุ้นนี้ เกี่ยวโยงกับการแพร่กระจายของข่าวร้าย ที่เป็นได้ทั้งข่าวจริงและข่าวลือเท็จ
โยเซฟ ชุมปีเตอร์ นักคิดชาวเยอรมนีชื่อดัง ออกมานำเสนอทฤษฎีที่จำกันมาถึงปัจจุบันคือ “การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) ต่อต้าน มาร์กซ และ เองเกลส์ เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษ 19
ความหมายก็คือว่า เมื่อระบอบทุนนิยมภายใต้เทคโนโลยีการจัดการของยุคหนึ่งดำเนินมาถึงทางตัน ก็จะเกิดเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่ ด้วยกระบวนการที่มีต้นทุนต่ำกว่า สะดวกกว่า และมีประสิทธิภาพสูงกว่า การเข้าแทนที่นั้น จะเป็นตัวเร่งให้เทคโนโลยีการผลิตรุ่นเก่าที่ตกยุค ถูกทำลายเร็วขึ้น จึงถือเป็นกระบวนการทำลายอย่างสร้างสรรค์
ห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างนี้ จะพบว่า มีความปั่นป่วนและผันแปรรุนแรงที่ผิวนอกเกิดขึ้น
ข่าวลือจะกลายเป็นปรากฏการณ์หลักของฉากหน้าสังคม เพราะการต่อสู้ของกลุ่มต่าง ๆ ถูกโหมกระพือเสียจนยากจะแยกแยะออกได้ว่า สิ่งใดถูกหรือผิด
วัตถุประสงค์หลักของข่าวลือ คือ การบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร หรือ การตัดทอนข้อมูลข่าวสาร เพื่อเบี่ยงเบนให้เป็นไปตามเจตนาของผู้ปล่อยข่าวลือ
นักจิตวิทยาอเมริกัน โรเบอร์ต แน็พ วิจัยข่าวลือมากมายที่เกิดขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองในสังคมอเมริกัน แล้วได้ข้อสมมติฐานเกี่ยวกับประเภทของข่าวลือออกมา 3 อย่างด้วยกันคือ 1) เป็นข้อมูลที่ถ่ายทอดจากปากสู่ปาก 2) เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำของบุคคล หรือ สถานการณ์แวดล้อม 3) แสดงออกโดยอ้างว่าเพื่อความหวังดีต่อส่วนรวม
จากนั้น แน็พ ก็แจกแจงชนิดของข่าวลือออกมาได้เป็น 3 ชนิด (ตัวอย่างประกอบปรับปรุงขึ้นเพื่อให้เหมาะกับสังคมไทย) คือ
– ข่าวชวนฝันหวาน (pipe dream rumors) เช่น ทักษิณถูกยึดทรัพย์แล้วจะต้องหมดตัว ดังนั้นจึงไม่มีเงินมาต่อท่อน้ำเลี้ยง เสื้อแดงก็คงจะฝ่อไปอย่างรวดเร็ว
– ข่าวลือชวนสยอง (bogie rumors) เช่น วันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ เสื้อแดงจะเผาเมืองแน่นอน ห้ามออกจากบ้าน
– ข่าวลือตอกลิ่ม (wedge-driving rumors) เช่น คนไทยมี 2 ทางเลือกเท่านั้น หากไม่อยากใส่เสื้อแดง คุณต้องใส่เสื้อเหลือง
ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ความสามารถในการ “ซึมซับ” และกรองข้อมูลได้ดีเพียงใด
นักคิดฝรั่งเศส โบดิยาร์ด เรียกข่าวลือดังกล่าวว่า ความจริงที่เกินเลย ซึ่งหากพิจารณาโดยใช้มาตรฐานแล้วจะพบว่า ความเลวร้ายในระดับ “สิ่งดีที่สุดในโลกที่เป็นไปได้” (หมายถึง อะไรที่เกิดเลวร้ายอย่างสุด ๆ นั้น เอาเข้าจริงแล้ว เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วที่จะเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขแวดล้อมในขณะนั้น) กำลังย่างกรายเข้ามาจนใกล้จะถึงเวลาที่บังเกิดขึ้นแล้ว
สื่อมวลชนกระแสหลักของสังคมไทยที่ถนัดกับการ “คั้นน้ำส้ม” กันอย่างขนานใหญ่เพื่อมุ่งขายข่าวและข้อมูลประหนึ่ง “เฮละโล สาระพา” ดังกล่าว เกิดขึ้นในสังคมที่คนส่วนใหญ่พร้อมจะจ่ายค่าโง่โดยสมัครใจเพื่อให้ความเชื่อกลายเป็นจริงขึ้นมาให้ได้
ข่าวลือทางลบในตลาดหุ้น จึงเป็นคุณประโยชน์กับผู้ที่มีประสบการณ์คร่ำหวอดกับความเปราะบางนี้ได้ทุกเมื่อ