ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศหุ้นกู้ชุดใหม่ของ SCC ที่ระดับ A(tha)’
ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศหุ้นกู้ชุดใหม่ของ SCC ที่ระดับ A(tha)'
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ครั้งที่ 2/2558 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2562 มูลค่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ที่ระดับ ‘A(tha)’
หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC (ซึ่งมีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’) เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิของ SCC โดยเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะนำไปใช้สำหรับชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและใช้สำหรับการลงทุนในอนาคต
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความเป็นผู้นำทางธุรกิจ – SCC เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีธุรกิจหลักที่มีความหลากหลาย ซึ่งแบ่งเป็นสามธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร SCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย และกระดาษบรรจุภัณฑ์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในบางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยวัดจากกำลังการผลิตและส่วนแบ่งการตลาด ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ น่าจะยังคงรักษาสถานะความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจหลักเหล่านี้ทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ต่อไปในอีกห้าปีข้างหน้า
ธุรกิจที่หลากหลาย – อันดับเครดิตสะท้อนถึงธุรกิจของ SCC ที่มีการกระจายความเสี่ยงของแหล่งที่มาของรายได้จากธุรกิจหลักที่หลากหลาย เป้าหมายหลักของบริษัทฯ ที่จะขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นปัจจัยบวกต่อสถานะทางธุรกิจของบริษัทฯ ในระยะยาว แม้ว่ารายได้จากการดำเนินงานจากธุรกิจในภูมิภาค น่าจะยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักในช่วงปี 2558
แผนการลงทุนที่ยังคงสูง – ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของ SCC น่าจะยังคงสูงต่อเนื่องในปี 2558-2559 โดยอยู่ที่ประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาทต่อปี เงินลงทุนส่วนใหญ่จะใช้เพื่อการขยายธุรกิจในต่างประเทศ ทั้งการลงทุนในโครงการใหม่และการเข้าซื้อกิจการ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (รวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) ของ SCC น่าจะอยู่ที่ระดับ 3 เท่าในปี 2558-2559 (อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 2.3 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2558) และคาดว่าจะปรับลดลงต่ำกว่า 3 เท่าหลังจากนั้น เมื่อธุรกิจในภูมิภาคเริ่มมีการดำเนินงานอย่างเต็มตัว
กำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น – ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Operating EBITDA) ของ SCC จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2558 (อัตราการเติบโตของ Operating EBITDA ในไตรมาส 2 ปี 2558 เท่ากับร้อยละ 36) โดยคาดว่าธุรกิจเคมีภัณฑ์จะยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สร้างผลกำไรให้บริษัทฯ ในปี 2558 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับเพิ่มขึ้นของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์โพลิเอททีลีน ในขณะที่ Operating EBITDA จากธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง น่าจะยังคงเติบโตในระดับต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปี อันเป็นผลมาจากกิจกรรมในภาคการก่อสร้างภายในประเทศที่มีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ
ความผันผวนของธุรกิจ – อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงการที่ SCC ต้องเผชิญกับความผันผวนของธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร และความสามารถที่จำกัดในการกำหนดราคาในกลุ่มสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัทฯ อีกด้วย
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
– Operating EBITDA เติบโตในปี 2558 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับเพิ่มขึ้นของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี
– Operating EBITDA จากธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง คงอยู่ในระดับเดิมหรือเติบโตเล็กน้อย
– ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 50,000-60,000 ล้านบาทต่อปี ในปี 2558-2559
– อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับ 40%-50%
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
– การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของสัดส่วนของกระแสเงินสดที่มาจากธุรกิจในภูมิภาค
– อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.75 เท่า (อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 2.41 ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2558)
ปัจจัยลบ:
– สถานะทางธุรกิจและการเงินของ SCC ที่อ่อนแอลง ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) อยู่ในระดับสูงกว่า 3.75 เท่า อย่างต่อเนื่อง