CPF เดินหน้าโครงการ “ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน เฟส 2” เน้นอนุรักษ์-รักษาระบบนิเวศ
CPF เดินหน้าโครงการ "ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน เฟส 2" เน้นอนุรักษ์-รักษาระบบนิเวศ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เดินหน้าโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน ระยะที่สอง เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และคืนสมดุลระบบนิเวศป่าชายเลน ร่วมสร้างอาหารมั่นคง
โดยบริษัทได้ดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดิน น้ำ ป่าคงอยู่ โดยในด้านของดินน้ำป่าคงอยู่ บริษัทฯ ทำกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าบกและป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างปี 2557-2561 ดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ช่วยฟื้นฟูป่าชายเลนที่ ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร ที่มีปัญหาพื้นที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะให้กลับสู่ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์รวม 104 ไร่
สำหรับความสำเร็จจากการดำเนินโครงการในระยะที่หนึ่ง นอกจากฟื้นฟูป่ากลับสู่ความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอนุบาลให้กับสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นแหล่งอาหารของชุมชน ยังเกิดการทับของตะกอนเลนเป็นแนวเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ได้อีก และปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สอง (ปี 2562-2566 )ของโครงการ มีเป้าหมายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เพิ่มอีก 266 ไร่
ด้าน นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า พื้นที่ป่าชายเลนจังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่อ่าวตัว ก. ที่มีปัญหาพื้นที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะ แต่จากความร่วมมือของภาคเอกชนและชุมชนในพื้นที่ ดำเนินโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ทำให้ผืนป่าชายเลนบริเวณนี้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง สามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จากการปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลน คือ ต้นแสม ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เติบโตได้ดีในพื้นที่ ปริมาณต้นไม้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการทับถมของตะกอนเลนเป็นแนวเพิ่มขึ้นสามารถปลูกต้นไม้ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลโดยตรงของการอนุรักษ์และฟื้นฟูที่ทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น และยังเป็นแหล่งอนุบาลให้กับสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นแหล่งอาหารของชุมชนในพื้นที่ ช่วยส่งเสริมรายได้และการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชนให้ดีขึ้น เช่น อาชีพประมง
“ความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชนที่ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมดูแลป่า นำมาสู่ผลสำเร็จของการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าชายเลน สามารถเป็นต้นแบบของการฟื้นฟูป่าชายเลนให้พื้นที่อื่น ๆ ซึ่งในโอกาสวันป่าชุมชนชายเลนไทย 12 เมษายน ของทุกปี จึงขอเชิญชวนให้คนไทยทุกคน ร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน” นายวัฒนา กล่าว
ด้าน นายปรีชา มีนิล รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ป่าชายเลน จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และตลอดกระบวนการผลิต บริษัทฯ ใส่ใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งภายใต้กลยุทธ์สู่ความยั่งยืนด้านดินน้ำป่าคงอยู่ มีเป้าหมายร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ คืนสมดุลระบบนิเวศ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนสร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อสร้างแหล่งอาหารที่มั่นคง ชุมชนพึ่งพาตนเองและอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน
โดยในปี 2562-2566 เข้าสู่ระยะที่สองของโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” บริษัทฯ ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เดินหน้าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพิ่มอีก 266 ไร่ หลังจากผลสำเร็จของโครงการระยะที่หนึ่ง (ปี 2557-2561) ที่ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนที่ ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร รวม 104 ไร่ และจัดตั้งสถานีส่งเสริมอาชีพชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลน ต.บางหญ้าแพรก ช่วยสร้างอาชีพและรายได้เสริมให้แก่ชุมชน
ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ” มาตั้งแต่ปี 2557 ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน พื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัด รวม 2,388 ไร่ ประกอบด้วย ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และพังงา และยังคงเดินหน้าร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าบกและป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปลายปี 2563 ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ดำเนินโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปลูกป่าบกและป่าชายเลน ระยะที่สอง ในโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง โครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน และโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการ มุ่งมั่นมีส่วนร่วมปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อความมั่นคงทางอาหารและสร้างสมดุลธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซี่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก เป็นต้น