SAMART จับมือ สวทช.จัดงาน “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี พบนักลงทุน”
SAMART จับมือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีแห่งชาติจัดงาน “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี พบนักลงทุน” โดยมีการยก 10 ผลงานเด่นโชว์ความพร้อมนวัตกรรม-แนวคิดต่อผู้ลงทุน หวังสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่เหล่านวัตกรให้เกิดขึ้นจริง
นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงาน “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี พบนักลงทุน” (Business Matching) มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพบปะกันเพื่อให้เกิดการเจรจาต่อรองทางธุรกิจระหว่างนักลงทุนกับเจ้าของผลงาน ซึ่งเจ้าของผลงานจะได้มีโอกาสต่อยอดในเชิงพาณิชย์
ขณะที่นักลงทุนมีโอกาสได้พิจารณาผลงานที่มีศักยภาพเพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจของตน เป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในภูมิภาคมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อผลงานไหนมีโอกาสกลายเป็นธุรกิจทำเงินตัวจริง และกลับมาเป็นที่ปรึกษาให้กับน้องๆรุ่นต่อไป ระบบนิเวศน์ของสตาร์ทอัพในเมืองไทยจะชัดเจนและเป็นรูปธรรมในที่สุด
สำหรับการเข้าสู่ยุค Digital ที่ต้องนำประโยชน์จากเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วเป็นสำคัญ “กลุ่มบริษัทสามารถ” ในฐานะที่เติบโตมาจากการให้บริการด้านเทคโนโลยีที่มุ่งสร้างให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในทุกด้าน ทั้งต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนความมุ่งมั่นของเราที่ต้องการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการคิดค้น พัฒนาเทคโนโลยี ผ่านกิจกรรมต่างๆโดยเฉพาะโครงการ Samart Innovation Award ที่ก่อตั้งมานานถึง 13 ปี ได้มีส่วนในการสร้างและผลักดันให้เกิดนักพัฒนาด้านเทคโนโลยีตัวจริงแบบไม่มีข้อผูกมัดใดๆ จากบริษัท
ทั้งนี้ ผู้ชนะเลิศรางวัล Samart Innovation Award 2015 ในโครงการ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี” จะได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท และ 3 อันดับแรกยังได้รับรางวัลทัศนศึกษาต่างประเทศ และ 25 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย จะได้รับทุน (Business Startup Funds) ทุนละ 20,000 บาท รวมมูลค่าโครงการฯกว่า 1,000,000 บาท
ด้านนายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นการแสดงผลงานเทคโนโลยีและแผนธุรกิจของผู้เข้าร่วมโครงการฯ โดยนำความรู้และประสบการณ์จากการร่วมกิจกรรมตั้งแต่ต้นปี จากความรู้ด้านการตลาดทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องการจัดตั้งธุรกิจ การเขียนแผน การเจรจาต่อรอง จนถึงการออกไปปฏิบัติจริง มาปรับใช้กับผลงาน และกลับมานำเสนอให้กับนักลงทุนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ผู้ประกอบการ และผู้ทรงอิทธิพลด้านออนไลน์จากหลากหลายกลุ่มธุรกิจ ซึ่งล้วนแต่มีประสบการณ์ ความรอบรู้ ที่ต้องการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีโอกาสเติบโต มาร่วมลงทุน มาต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ หรือนำไปขยายตลาดต่อทั้งในและต่างประเทศ
“สำหรับโครงการฯปีนี้ได้รับการตอบรับอย่างคึกคัก มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 100 ผลงาน ผ่านการสัมภาษณ์ให้เข้ารอบแรกมานำเสนอผลงานกับคณะกรรมการจำนวน 45 ผลงาน และคัดเลือกอย่างเข้มข้นจนได้ 25 ผลงานที่ได้รับทุน และมี 10 ผลงานที่พร้อมเข้ามานำเสนอผลงานให้กับนักลงทุนในวันนี้ โดยตลอด 3 ปีที่จัดโครงการฯ มีถึง 15 ผลงาน ที่ก้าวสู่การเป็นนักธุรกิจตัวจริง เกิดการจัดตั้งเป็นธุรกิจเทคโนโลยี เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และมีอีกกว่า 50 ผลงานที่กำลังพัฒนา และเตรียมพร้อมสู่ตลาดและการจัดตั้งธุรกิจในโอกาสต่อไป”นายเฉลิมพล กล่าว
ขณะที่นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานแรกของไทยที่ดำเนินการเสริมสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้าสู่วงการธุรกิจไทยมากว่า 13 ปี ได้เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่และสามารถจัดตั้งธุรกิจแล้ว 16,000 ราย ทั่วประเทศ ผ่านการให้ความรู้ การจัดทำแผนธุรกิจ ให้คำปรึกษา และให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง รองรับผู้มีฝันอยากเป็นผู้ประกอบการตัวจริง
โดยการเข้ามาสนับสนุนโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยีในปีนี้ ถือเป็นมิติใหม่ของกรมฯ ที่ช่วยเป็นฐานในการส่งต่อและสร้างทัศนคติการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ก่อนที่จะเริ่มต้นธุรกิจ การทำงานร่วมกับ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น และ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สวทช. ในครั้งนี้ ถือเป็นการทำงาน ร่วมมือกันแบบ Public Private Partnership (PPP) อย่างแท้จริง ในการช่วยกันสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งเหมาะกับการสร้างธุรกิจดิจิทัลในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเหมาะสม
สำหรับ 10 ผลงานที่เข้าร่วมนำเสนอต่อนักลงทุน คัดเลือกจากผลงานที่พร้อมที่สุด ทั้งแนวคิดธุรกิจที่ชัดเจนและพร้อมต่อยอดทางธุรกิจทันที ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ในกลุ่มที่มีความต้องการในตลาด ได้แก่
ประเภท Digital Innovative : Internet of Things
1. GetKaset : ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์
2. INHUB : ระบบควบคุมและดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคาร
3. LenNam : เครื่องมือตรวจสอบคุณภาพน้ำ
4. Pet Hospital : โปรแกรมการจัดการร้านสัตว์แพทย์
ประเภท Digital Innovative : Mobile Application
5. BikeRoutes : แอพพลิเคชั่นบอกเส้นทางการปั่นจักรยาน
6. ChariGO : แอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจำหน่ายสินค้าชุมชน
7. EasyHos : ระบบนำทางข้อมูลแก่คนไข้ในโรงพยาบาล
8. ideasdee : แพลตฟอร์มสำหรับแบ่งปันไอเดียต่างๆ
ประเภท Technology
9. Akne Care Project : เทคโนโลยีนำส่งสารสำคัญเพื่อช่วยรักษาสิว
10. Visionnear : อุปกรณ์สวมใส่สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น
สำหรับโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยีปีนี้ ยังต้องค้นหาสุดยอดแผนธุรกิจด้านนวัตกรรม ในรางวัล Samart Innovation Award โดยผู้ผ่านเข้ารอบทั้ง 25 ผลงานต้องมานำเสนอผลงานอีกครั้ง