งบแบงก์ เหมือนดี..แต่ทรงตัว
แว๊บแรก...เห็นงบแบงก์ไตรมาส 1/2564 เหมือนจะดี บางแบงก์โชว์กำไรมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่พอเข้าไปดูไส้ในของงบการเงินแต่ละแบงก์ ก็ยังไม่ได้บ่งบอกว่าจะดีขึ้นจริง สถานการณ์ทรง ๆ ทรุด ๆ เสียด้วยซ้ำ...
สำนักข่าวรัชดา
แว๊บแรก…เห็นงบแบงก์ไตรมาส 1/2564 เหมือนจะดี บางแบงก์โชว์กำไรมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่พอเข้าไปดูไส้ในของงบการเงินแต่ละแบงก์ ก็ยังไม่ได้บ่งบอกว่าจะดีขึ้นจริง สถานการณ์ทรง ๆ ทรุด ๆ เสียด้วยซ้ำ…
ดูได้จากรายได้หลักจากดอกเบี้ย เป็นตัวสะท้อนภาพที่ชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่ลดลง หรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สะท้อนถึงการปล่อยสินเชื่อที่ไม่เติบโต นั่นหมายถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบาง
แต่ที่เห็นบรรทัดสุดท้ายของ 5 แบงก์ใหญ่ดูดีนั้น มาจากรายการอื่น ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น รายได้จากเงินลงทุน การตั้งสำรองหนี้เสีย หรือผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง เป็นต้น จึงทำให้เกิดภาพกำไรหลอกตา..!!
ไม่ว่าจะเป็นแบงก์เขียว ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ที่โชว์กำไรสุทธิดีกว่าคาด อยู่ที่ 10,626 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน…แต่รายได้หลักจากดอกเบี้ยกลับทรงตัวอยู่ที่ 28,133 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.18% ขณะที่รายการอื่น ๆ กลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ เพิ่มขึ้น 6.56% อยู่ที่ 9,431 ล้านบาท รายได้อื่น ๆ เพิ่มขึ้น 221.45% อยู่ที่ 2,962 ล้านบาท
นอกจากนี้ มีการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ตั้งสำรอง) ลดลง 27.14% เหลือ 8,640 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 11,872 ล้านบาท
ฟากแบงก์ฟ้า ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB มีกำไรสุทธิ 5,578 ล้านบาท ลดลง 13.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยลดลง 13% อยู่ที่ 19,969 ล้านบาท แต่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 5.4% อยู่ที่ 5,217 ล้านบาท รวมทั้งรายได้จากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 14.3% อยู่ที่ 3,486 ล้านบาท
ขณะที่มีการตั้งผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 5.5% อยู่ที่ 8,058 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 8,524 ล้านบาท
แบงก์ทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB เป็นอีกแบงก์ที่ทำผลงานได้ดีกว่าคาด แต่ถ้าดูไส้ในจะเห็นว่ารายได้หลักจากดอกเบี้ยลดลง 8.1% อยู่ที่ 12,872 ล้านบาท ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 5.0% อยู่ที่ 3,971 ล้านบาท ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 7.7% อยู่ที่ 3,032 ล้านบาท
กรณีเคสของ TMB เนื่องจากที่ผ่านมามีการตั้งสำรองค่อนข้างต่ำ ในไตรมาสนี้จึงมีการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น 15.1% อยู่ที่ 5,480 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 4,760 ล้านบาท ทำให้งวดไตรมาส 1/2564 TMB มีกำไรสุทธิ 2,782 ล้านบาท ลดลง 33.2%
ด้านแบงก์ดอกบัว ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL มีกำไรสุทธิ 6,923 ล้านบาท ลดลง 9.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน…โดยรายได้หลักอย่างรายได้ดอกเบี้ยลดลงเล็กน้อย 0.6% อยู่ที่ 19,707 ล้านบาท ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเกือบ 70% อยู่ที่ 11,166 ล้านบาท
และมีการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น 24.4% อยู่ที่ 6,326 ล้านบาท จากช่วงเดียวของปีก่อนตั้งที่ระดับ 5,087 ล้านบาท
ปิดท้ายด้วยแบงก์ม่วง ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB โชว์กำไรสุทธิ 10,087 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่รายได้หลักจากดอกเบี้ยลดลง 9.3% อยู่ที่ 23,376 ล้านบาท ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นถึง 21.2% อยู่ที่ 14,377 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 7.9%
ขณะที่มีการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.9% อยู่ที่ 10,008 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนตั้งที่ 9,726 ล้านบาท
เอาเป็นว่า ที่เห็นบรรทัดสุดท้ายดูดีนั้น อย่าเพิ่งดีใจไปล่ะ…อย่าลืมว่าโควิดยังไม่จบนะ มิหนำซ้ำยังเกิดการระบาดระลอกใหม่อีก ขณะที่วัคซีนซึ่งเป็นพระเอกของเรื่องนี้ก็เพิ่งฉีดได้แค่ 618,583 โดส คิดเป็น 0.4% ของประชากรเท่านั้น…
โอกาสที่เศรษฐกิจจะทรุดมากกว่าฟื้นจึงมีสูง ฉะนั้นก็อย่าโลกสวยเกินไป…เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน…
…อิ อิ อิ…