ต้องเอาวัคซีนไปหาประชาชน
เป็นไงล่ะครับ! ข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ณ วันที่ 19 เม.ย.2564 ระบุข้อมูลการฉีดวัคซีนในประเทศไทย ฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาและซิโนแวคไปแล้ว 618,583 โดส ยังคงเป็นร้อยละ 0.4 ของประชากรเท่านั้น
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
เป็นไงล่ะครับ! ข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ณ วันที่ 19 เม.ย.2564 ระบุข้อมูลการฉีดวัคซีนในประเทศไทย ฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาและซิโนแวคไปแล้ว 618,583 โดส ยังคงเป็นร้อยละ 0.4 ของประชากรเท่านั้น
อัตราเฉลี่ยการฉีดต่อวันเท่ากับ 12,129.07 โดส (28 ก.พ.-19 เม.ย.รวม 51 วัน)
ฟิลิปปินส์จากการสำรวจหนก่อน (6 เม.ย.) เพิ่งจะปาดหน้าแซงไทยไปในลำดับที่ 6 จำนวนทั้งสิ้น 1,255,716 โดส ครอบคลุมประชากรร้อยละ 0.6 ไทยเราจึงตกมาอยู่ในลำดับที่ 7 เหนือลำดับ 8-9-10 ที่เป็นลาว บรูไน และเวียดนามตามลำดับ ส่วนกัมพูชาและเมียนมา อยู่ลำดับ 4 และ 5 ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร 1.3% และ 1.0% ตามลำดับ
สถานะการฉีดวัคซีนในประเทศไทยอันน้อยนิด มันก็ต้องร้องเพลง “Do you hear me” กันอยู่นานแสนนานล่ะครับ ผู้บริหารสมองกลวงและคิดช้าทำช้า ถึงได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ ยอมกระจายความเสี่ยงวัคซีน และเร่งรัดการสั่งซื้อวัคซีนขึ้นมาได้
ก่อนหน้า “40 ซีอีโอ” จะตบเท้า และเจ้าสัวธนินทร์ออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้เร่งทำการฉีดวัคซีน อย่าทำตัวเป็นเฉื่อยลมโชย ก็ยังมีเสียงสะท้อนดี ๆ ออกมาจากปากดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติว่า มาตรการที่สำคัญที่สุดและเป็นของจริงของวิกฤตครั้งนี้คือ “ฉีดวัคซีน” มาตรการอย่างอื่นคือ “ซื้อเวลา”
ต้องบอกว่าวัคซีนคือ “พระเอก” ตัวอื่นเป็น “ตัวรอง” หมด รวมถึงนโยบายการเงิน การคลัง เพราะถ้ายังแก้ปัญหาโรคระบาดไม่ได้ ทุกอย่างก็จะวนลูปอยู่ใน “วงจรอุบาทว์” กับการระบาดอีกรอบ เยียวยาอีกรอบ
ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงเป็นหัวใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทย การฉีดวัคซีนยังช้า และโอกาสสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ยังไม่ได้
ส่วนตัวผมเอง นับแต่บทความ “วัคซีน (ไทย) หวานเย็น” ตั้งแต่ 2 เม.ย.2564 มา ก็โดนใบมีดโกนสวนฉับมาจาก “รมต.อาเสี่ย ลูกเจ้าสัว” คนนั้นล่ะครับว่า “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน”
อีกทั้ง “ปราศจากความรอบรู้ ห่างไกลข้อมูล มีอคติ เพียงแต่มีปากกาติดมือ ไม่เชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของประเทศ น่าเสียใจจริง ๆ”
ทั้งเสียงวอนขอ “Do you hear me-คุณจะฟังเราบ้างไหม” และสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งทั้งรุนแรงและรวด
เร็ว แพร่เชื้อกันได้อย่างง่ายดาย ทำให้สถานการณ์วันนี้พลิกเปลี่ยนไปแล้ว!
นายกฯ ประยุทธ์ จาก “แทงม้าตัวเดียว” ก็แทงม้าหลายตัวขึ้น อย่างน้อยในขั้นต้นนี้ก็จะเพิ่มการสั่งซื้อ วัคซีนไฟเซอร์เพิ่มขึ้นมาจากแอสตราเซเนกา-ซิโนแวคเป็นตัวที่ 3 และประกาศแนวทางให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนเองได้
จากเป้าหมายจะฉีดให้ครบ 63 ล้านโดสภายในปีนี้ ต่อมาจะให้เอกชนช่วยเพิ่มอีก 10 ล้านโดส และต่อมาล่าสุดก็จะเพิ่มให้เป็น 100 ล้านโดส เพื่อครอบคลุมประชากรร้อยละ 70 ไปเลย
ดูเหมือนความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับประชาชนจะเข้าใจตรงกันเสียทีแล้วนะ ที่จะเห็นทางสว่างร่วมกันในเรื่องของการฉีดวัคซีน ที่เป็นกุญแจสำคัญในการฝ่าวงจรอุบาทว์-โควิดมรณะไปได้เสียที
เข้าใจตรงกันแล้วนะ ประชาชนกับรัฐบาล อย่าได้อวดดีถือเด่นอีกว่า คุมวัคซีนได้อยู่หมัด จึงไม่ต้องเร่งฉีดวัคซีน
แต่ก็นั่นล่ะ กำลังการฉีดวัคซีนด้วยอัตราเฉลี่ยวันละ 12,000 โดสเศษ ๆ อันน้อยนิด และยอดสะสมการฉีด 51 วัน ที่ผ่านมา เพียงแค่ 6.1 แสนโดสเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่มีวัคซีนในมือถึง 2.1 ล้านโดส ทำให้ไม่เกิดความรู้สึกมั่นใจ เชื่อถือและเชื่อมั่นเอาเสียเลย
ปัญหาทางความคิดชี้นำ ก็คือ จะให้ประชาชนไปหาวัคซีนแบบเดี๋ยวนี้ หรือจะเอาวัคซีนไปหาประชาชนแบบที่รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.SCG เสนอแนะรัฐบาล
ซึ่งตามสถานที่ชุมนุมของประชาชนไม่ว่าห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกต่าง ๆ ก็ล้วนแล้วแต่ปรับให้มีมุมฉีดวัคซีนแก่ประชาชนได้ทั้งสิ้น ในอเมริกาซึ่งฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว ก็ยังใช้ร้านขายยาฉีดวัคซีนด้วยเลย
คงต้องขอให้รัฐบาลเปิดเผยและแถลงแผนการกระจายวัคซีนแก่ประชาชน เพื่อความมั่นใจ เชื่อถือ และเชื่อใจกันได้แล้ว บอกตามตรงว่า “ไม่ไว้ใจ” กับอัตราการฉีดแค่วันละหมื่นสองพันคนเอาเสียเลย
ควรต้องเอาวัคซีนไปหาประชาชน แทนให้ประชาชนคลานมาหาวัคซีนเฉกเช่นทุกวันนี้