BTS เล็งยื่นฟ้อง กทม. ชดใช้หนี้เดินรถ – ค่าติดตั้งระบบ “สายสีเขียว” 3 หมื่นลบ.
BTS เล็งยื่นฟ้อง กทม. ชดใช้หนี้เดินรถ - ค่าติดตั้งระบบ “สายสีเขียว” 3 หมื่นลบ.
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส บริษัทในกลุ่ม บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อศาลปกครองภายในไม่เกินสัปดาห์หน้า เพื่อให้ชดใช้หนี้ที่ติดค้างกับบริษัทกว่า 3 หมื่นล้านบาท
โดย กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กทม.ได้ติดค้างหนี้ ตั้งแต่ปี 60-มี.ค.64 เป็นค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว จำนวน 10,903 ล้านบาท และค่าติดตั้งระบบเดินรถและอาณัติสัญญาณ จำนวน 20,768 ล้านบาท ซึ่งหาก กทม.ไม่ดำเนินการใดๆ จะทำให้ภาระหนี้ดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นไปถึง 9 หมื่นล้านบาทในปี 72 (ปีสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน) ที่จะมาจากค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 6 หมื่นล้านบาทรวมดอกเบี้ย และค่าติดตั้งระบบเดินรถและอาณัติสัญญาณ 3 หมื่นล้านบาทรวมดอกเบี้ย
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย.64 ที่ผ่านมา สภากทม.ไม่อนุมัติให้ใช้งบประมาณมาชำระภาระหนี้ที่มีกับบริษัท และเสนอแนะให้ผู้บริหาร กทม.ขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาล หรือให้ กทม.เข้าร่วมลงทุนกับบริษัทตามที่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ดังนั้น บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BTS ที่มีผู้ถือหุ้นอยู่กว่า 1 แสนราย และ ในฐานะเจ้าหนี้ของ กทม.ที่บริษัทต้องใช้สิทธิทวงหนี้ตามสัญญา จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
และไม่มีความประสงค์จะนำเรื่องที่ กทม.ติดค้างหนี้ดังกล่าวมาต่อรองแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขณะนี้รอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หลังจากสำนักงานอัยการสูงสุดเห็นชอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานสายสีเขียวตามคำสั่ง คสช.แล้ว ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่าภาครัฐจะพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อประโยชน์ของประชาชน
“บริษัทยังคงให้บริการการเดินรถ ในอนาคตบริษัทจะทำทุกวิถีทางที่จะให้การเดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ณ วันนี้ เราพยายามให้บริการให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้…เราไม่ได้นำเรื่องหนี้ มาบีบแก้ไขสัญญา” นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า สัญญาการเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และ สะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนที่บริษัทลทุนเอง 100% ตอนที่ 2 เป็นส่วนต่อขยาย ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และ สะพานตากสิน-บางหว้า ซึ่งทาง กทม.เป็นผู้ลงทุน และตอนที่ 3 ช่วงแบริ่ง-เคหะ สมุทรปราการ และ หมอชิดต-คูคต ซึ่ง กทม.รับโอนมาจาก รฟม.
โดยหากนับรวมระยะทางแล้วจะทำให้มีค่าโดยสารสูงสุด 158 บาท แต่ทาง กทม.และรัฐบาลเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะในอัตราดังกล่าวจึงได้มีการเจรจากับบริษัทเพื่อให้ค่าโดยสารอยู่ในระดับที่ประชาชนรับได้ ส่งผลให้มีการปรับเพดานค่าโดยสารมาเป็นไม่เกิน 65 บาท จึงทำให้ต้องมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานสายสีเขียว
ส่วนที่กระทรวงคมนาคมมีข้อเสนอให้ปรับค่าโดยสารมาที่ 50 บาท และมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคเสนอที่ 25 บาทนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวสูงสุด 59 บาทก็ยังขาดทุนราว 6 พันล้านบาท แต่ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพราะคาดการณ์ตัวเลขจำนวนผู้โดยสาร 1.1 ล้านคน/วัน แต่ตัวเลขจริงมีผู้โดยสารไม่ถึง 8 แสนคน/วัน (ก่อนเกิดโควิด) ต่างกันถึง 30% ทำให้การคาดการณ์รายได้คลาดเคลื่อน และค่าใช้จ่ายน้อยกว่าความเป็นจริง
ขณะที่ข้อมูลของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้ใช้ข้อมูลปัจจุบันไปถึงปี 72 แต่ไปอิงข้อมูลในปี 85 ทำให้เห็นว่ามีกำไร ทั้งที่บริษัทมีผลขาดทุนอยู่
ส่วนกรณีที่จะจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำเงินมาลดภาระหนี้ค้างชำระกับ กทม.นั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ เพราะกองทุนจะไม่มีการจ่ายเงินปันผลไป 8 ปี นับตั้งแต่ปี 64-ปี 72 ดังนั้น คงไม่มีใครเข้ามาลงทุน
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวลดลงไป 70% จากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 แต่บริษัทก็ไม่ได้ลดความถี่การเดินรถ กลับเพิ่มขึ้นมาเพื่อให้ไม่เกิดความแออัดภายในขบวนรถ