“ทริสฯ” คงเรตติ้งองค์กร-หุ้นกู้ WHART ที่ “A” สะท้อนความสามารถรักษาอัตราค่าเช่ากว่า 90%

"ทริสฯ" คงเรตติ้งหุ้นกู้ WHART ที่ "A" สะท้อนความสามารถรักษาอัตราค่าเช่าสูงกว่า 90%


ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท หรือ WHART ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”

ขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 7 ปีของทรัสต์ฯ ที่ระดับ “A” ด้วยเช่นกัน โดยทรัสต์ฯ จะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปใช้รีไฟแนนซ์เงินกู้บางส่วน และ/หรือ เพื่อการลงทุนในอนาคต และ/หรือ เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ

โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่ทรัสต์ฯ มีกระแสรายรับที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าและบริการตามสัญญา ตลอดจนผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และภาระหนี้สินทางการเงินที่อยู่ในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงบางส่วนจากการกระจุกตัวของรายได้ที่มาจากผู้เช่ารายใหญ่ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับผลกระทบในเชิงลบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยังคงยืดเยื้อซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างแรงกดดันต่อความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าและโรงงาน

ทั้งนี้ ในปี 2563 ทรัสต์ฯยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจโดยอัตราการให้เช่าโดยเฉลี่ย (ก่อนการรับประกัน) อยู่ที่ระดับ 90% ทริสเรทติ้งคาดว่าทรัสต์ฯ จะสามารถรักษาอัตราการเช่าโดยเฉลี่ยได้ที่ระดับประมาณ 90% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากปัจจัยสนับสนุนคือการมีสินทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในย่านยุทธศาสตร์ที่ดีรวมถึงการมีสินทรัพย์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากการสนับสนุนของสปอนเซอร์ แม้จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่ทรัสต์ฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 2.55 พันล้านบาทในปี 2563 อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 88%

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าทรัสต์ฯ จะยังคงความสามารถในการทำกำไรที่ระดับปัจจุบันในช่วง 3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 ระลอกใหม่อาจชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยทริสเรทติ้งมองว่าผลประกอบการของทรัสต์ฯ จะยังคงเผชิญกับความท้าทายต่อไปอีกจากอัตราการให้เช่าและอัตราการต่ออายุสัญญาเช่าที่อาจลดลงอีก

อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าทรัสต์ฯ จะคงภาระหนี้สินทางการเงิน ให้อยู่ในระดับปานกลางที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ไม่เกิน 35% เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายทางการเงินของทรัสต์ฯ ซึ่งอัตราส่วนนี้อยู่ที่ระดับ 25% ณ เดือนธันวาคม 2563 ทริสเรทติ้ง คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์คงอยู่ที่ระดับประมาณ 28%-30% ในปี 2564-2565 ตามเงื่อนไขทางการเงินระบุให้ทรัสต์ฯ จะต้องรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ให้ต่ำกว่า 35% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้ต่ำกว่า 5.5 เท่า ซึ่ง ณ เดือนธันวาคม 2563 ทรัสต์ฯ มีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 25% และ 4.5 เท่าตามลำดับ

โดย ณ เดือนมีนาคม 2564 ทรัสต์ฯ มีภาระหนี้คงค้างทั้งสิ้นจำนวน 1.02 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 5 พันล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินจำนวน 2.16 พันล้านบาท และเงินกู้บริดจ์โลนจำนวน 3 พันล้านบาท ในการนี้ ทรัสต์ฯ ตั้งใจจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปใช้ชำระเงินกู้บริดจ์โลนดังกล่าว ทรัสต์ฯ มีภาระหนี้ที่จะต้องจ่ายชำระเป็นงวดจำนวน 1.95 พันล้านบาทในปี 2565 ตามด้วยจำนวน 820 ล้านบาทในปี 2566 และจำนวน 3.89 พันล้านบาทในปีต่อ ๆ มา ทรัสต์ฯ มีแผนจะออกหุ้นกู้ใหม่และ/หรือกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อชำระคืนหนี้ดังกล่าว ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าทรัสต์ฯ จะไม่มีปัญหาในการจ่ายคืนภาระหนี้ดังกล่าว

สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าทรัสต์ฯ จะสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและสามารถรักษาระดับอัตราการให้เช่าที่สูงกว่า 90% โดยความสามารถในการทำกำไรจะอยู่ในระดับที่ดีอย่างต่อเนื่องเอาไว้ได้ในช่วงปี 2564-2565 และคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อสินทรัพย์รวมจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 35% ตามนโยบายของทรัสต์ฯ รวมทั้งจะสามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของทรัสต์ฯ อาจได้รับการปรับลดลงหากอัตราการเช่าลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญและ/หรืออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์สูงเกินกว่า 35% เป็นระยะเวลานาน ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากทรัสต์ฯ สามารถเพิ่มขนาดกระแสเงินสดได้อย่างมีนัยสำคัญ และโครงสร้างเงินทุนของทรัสต์ฯ แข็งแกร่งขึ้นอย่างเห็นได้อย่างชัดเจนซึ่งจะนำไปสู่การมีกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

Back to top button