พาราสาวะถี

ตราบใดที่วังวนแห่งผลประโยชน์ยังอยู่รายล้อมรอบตัวของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ การแก้ไขการระบาดของโควิด-19 เข้าตำรายิ่งแก้ยิ่งวุ่น เพราะสถานการณ์ระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งต้นตอมาจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ก่อนที่จะแพร่กระจายไปทั่วประเทศในระยะเวลาอันรวดเร็ว การถูกดักคอและตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบเพิ่งเริ่มจากซาลงไป กลับมีเรื่องใหม่แต่เป็นประเด็นเดิมกลับมาวนเวียนสร้างความหงุดหงิดในหัวใจกับท่านผู้นำอีกกระทอก


อรชุน

ตราบใดที่วังวนแห่งผลประโยชน์ยังอยู่รายล้อมรอบตัวของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ การแก้ไขการระบาดของโควิด-19 เข้าตำรายิ่งแก้ยิ่งวุ่น เพราะสถานการณ์ระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งต้นตอมาจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ก่อนที่จะแพร่กระจายไปทั่วประเทศในระยะเวลาอันรวดเร็ว การถูกดักคอและตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบเพิ่งเริ่มจากซาลงไป กลับมีเรื่องใหม่แต่เป็นประเด็นเดิมกลับมาวนเวียนสร้างความหงุดหงิดในหัวใจกับท่านผู้นำอีกกระทอก

เพราะข้อมูลล่าสุดจาก วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงสี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ผู้ที่ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะรักษาการติดเชื้อโควิดหาย เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ พึงตระหนักและจัดการต่อเรื่องเหล่านี้ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม กับการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าประเทศ การที่พ่อเมืองผู้ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดในพื้นที่อย่างรุนแรงและตัวเองต้องต่อสู้กับโรคร้ายจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดมาแล้วปูดข้อมูลเช่นนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ปราศจากข้อเท็จจริงอย่างแน่นอน

สิ่งที่ผู้ว่าฯ รายนี้บอกว่า คนไทยด้วยกันเองเปิดประตูบ้านลักลอบทำเรื่องผิดกฎหมาย เพราะหวังผลประโยชน์ตอบแทนเป็นตัวเงิน โดยไม่คิดว่ามันจะกระทบกลายเป็นปัญหาใหญ่ ทำลายสวัสดิภาพและสร้างปัญหาปากท้องของคนบ้านเดียวกัน ทั้งที่รู้ว่าทุกคนกำลังย่ำแย่เต็มที ขณะที่ชุดข้อมูลซึ่งพ่อเมืองสมุทรสาครได้รับมาจากประชาชนและภาคเอกชนก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนว่า มีแรงงานต่างชาติหลบหนีเข้าเมืองจำนวนมาก และผู้ที่ถูกจับกุมได้ก็ระบุว่า สมุทรสาครและกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญของกลุ่มนี้

นี่เป็นภาพสะท้อนว่าภายใต้สถานการณ์ที่คนไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติและไม่รู้ว่าจะเดินเข้าสู่หายนะทางเศรษฐกิจ ปากท้องที่รออยู่ข้างหน้าหรือไม่ ยังมีพวกที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวกระทำการในสิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอ้างว่าตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาแล้ว แต่เงียบเป็นเป่าสากมาจนถึงเวลานี้อย่างนั้นหรือ ถือเป็นบทพิสูจน์น้ำยาในการทำงานของคนที่รวบอำนาจทุกอย่างไปไว้ในมือได้เป็นอย่างดี และไม่ได้มีเฉพาะปัญหาแรงงานเถื่อนเท่านั้น

บ่อนการพนันก็ยังมีให้เห็นกันอยู่ และไม่ใช่อื่นไกลส.ส.ในพรรคสืบทอดอำนาจที่ค้ำบัลลังก์ให้กับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้นไง ที่เป็นคนออกมาปูดข้อมูล แม้จะไม่ระบุหรือเรียกร้องอะไรให้ชัดเจนจากคนที่เป็นผู้นำประเทศ แต่เสียงบ่นของ ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคสืบทอดอำนาจ ที่ว่า ผลการตรวจเชิงรุกชุมชนหลังวัดไผ่ตัน ย่านสะพานควาย และซอยพหลโยธิน 15 ในเขตพญาไท พบมีผู้ติดเชื้อหลักสิบราย ซึ่งสาเหตุหลักของการแพร่ระบาดก็คือบ่อนในพื้นที่ คนในพื้นที่รู้กันหมดยกเว้นผู้รับผิดชอบนี่คือหลักฐานชั้นดี

ไม่เพียงเท่านั้น ส.ส.รายดังว่ายังแสดงความรู้สึกโกรธแทนชาวบ้าน เพราะคำถามง่าย ๆ คือ เมื่อไหร่บ่อนจะหมดและพวกที่ลักลอบเล่นก็เอาโควิดมาติดคนในชุมชน ซึ่งปมปัญหานี้ก็มีคณะทำงานศึกษาที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจตั้งขึ้นมาอีกเหมือนกัน สรุปได้ว่าจะศึกษากันอย่างเดียว โดยไม่นำผลที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กันเลยอย่างนั้นหรือ หรือเวลานี้กำลังเมาหมัดไม่รู้จะจัดการปัญหาที่เผชิญอย่างไร แค่เรื่องวัคซีนก็ทำเอาหัวหมุนกันทั้งองคาพยพอยู่แล้ว

ภายใต้สถานการณ์ที่มีแรงกดดันมหาศาลนี้ ยังมีประเด็นทางการเมืองที่ทำให้ต้องขบคิดควบคู่ตามมาอีก ต่อกรณีของ ธรรมนัส พรหมเผ่า เจ้าของวลีเด็ด มันคือแป้ง” แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้พ้นความผิดจากข้อกล่าวหา สามารถเชิดหน้าชูคออยู่ต่อไปได้ทั้งเก้าอี้ส.ส.และรัฐมนตรี แต่สิ่งที่แหลมคมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์คือ จริยธรรมของคนที่มาร่วมรัฐบาลคนดี หรือไม่สนใจแล้วนับตั้งแต่ไปกวาดต้อนพวกนักการเมืองชั่วนักการเมืองเลวมาเป็นพวก

สิ่งที่ฝ่ายค้านกำลังไล่บี้อยู่นอกเหนือจากประเด็นจริยธรรมก็คือ เรื่องที่ธรรมนัสเคยอ้างว่าไม่เคยติดคุก แต่ผลจากคำวินิจฉัยและการยอมรับต่อศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า ติดคุกที่ออสเตรเลียแต่ศาลไทยเห็นว่าไม่สามารถนำมาใช้ตัดสินเอาผิดในประเทศได้นั้น ย่อมเป็นเครื่องหมายคำถามตัวโตว่า คนที่เป็นเสนาบดีแล้วมีมลทินจากคดีที่ร้ายแรงซึ่งได้รับการพิสูจน์มาแล้วจากกระบวนการยุติธรรมของต่างประเทศ จะอ้างเรื่องล้างมลทินและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วจบกันไปง่าย ๆ อย่างนั้นหรือ

กรณีของศาลรัฐธรรมนูญเองเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้นอย่างหนักหลังกรณีของธรรมนัสยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือถดถอยหนักเข้าไปอีก ด้วยเหตุนี้ข้อเขียนของ สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง กับหัวข้อที่ว่า ปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญที่ใหญ่กว่าคดีธรรมนัส” จึงน่าสนใจ มีประเด็นที่จะต้องขบคิดอย่างสำคัญ 3 ข้อซึ่งสัมพันธ์กันอย่างยิ่งต่อการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ หนึ่งคือกระบวนการคัดเลือก องค์ประกอบ จะทำอย่างไรให้ได้ผู้มีความรู้ซึ่งไม่ใช่มาจากผู้พิพากษาอาชีพเป็นส่วนใหญ่

และในการคัดเลือกควรต้องสัมพันธ์กับสถาบันที่มาจากประชาชน เช่น ผ่านการให้ความเห็นชอบจากส.ส. หรือส.ว. (แต่ต้องไม่ใช่ส.ว.ปรสิต) ประการต่อมาคือ อำนาจหน้าที่ ควรจำกัดอำนาจให้ทำหน้าที่ชี้ขาดในการตรวจสอบความชอบในประเด็นทางกฎหมาย คืนประเด็นปัญหาทางการเมืองกลับสู่กระบวนการทางการเมือง เช่น ตรวจสอบกฎหมายที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีอำนาจควบคุมนโยบายของรัฐบาล และควรถูกจำกัดในกรณีการสร้างอำนาจตนเองขึ้น

สุดท้ายคือ การควบคุมตรวจสอบ ต้องมีการควบคุมตรวจสอบทั้งโดยกระบวนการที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ต้องมีการลงโทษกรณีการตัดสินโดยบิดเบือนกฎหมาย ประชาชนสามารถเข้าชื่อถอดถอนได้ ยกเลิกความผิดละเมิดศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้อย่างเสรี แน่นอนว่าการแสดงความเห็นต่อการปฏิบัติหน้าที่และคำวินิจฉัย คำพิพากษาของศาลเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น เพราะด้านหนึ่งจะเป็นการถกเถียงด้วยหลักการและเหตุผล อีกด้านคือร่วมกันสร้าง “วัฒนธรรมการวิจารณ์ศาล”ให้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทยเช่นเดียวกันหากจังหวะเวลาที่เหมาะสมมาถึง การปรับแก้ในเชิงโครงสร้างก็เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น

Back to top button