DOD อวดกำไรไตรมาส 1 โตเท่าตัว! รับรายได้ผลิต “อาหารเสริม” โตทะลัก

DOD อวดกำไรไตรมาส 1 โตเกือบเท่าตัวมาที่ 55.13 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 27.96 ล้านบาท รับรายได้ผลิต "อาหารเสริม" โตทะลัก


บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/64 มีกำไรสุทธิ ดังนี้

ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากการขายในไตรมาส 1 ปี 2564 จำนวน 411.90ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.30 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 20.58เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมาจากธุรกิจหลัก ดังนี้

o ธุรกิจผลิตอาหารเสริม มีรายได้ 355.53 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 96.92

o ธุรกิจผลิตเครื่องสําอาง มีรายได้ 25.56 ล้านบาท อัตราการลดลง ร้อยละ 52.21

o ธุรกิจเครือข่าย มีรายได้ 30.81ล้านบาท อัตราการลดลงร้อยละ 71.36

โดยธุรกิจผลิตอาหารเสริมมีการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภค และจากฐานลูกค้าที่มีศักยภาพส่งผลให้รายได้จากธุรกิจอาหารเสริมเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง

ส่วนธุรกิจเครื่องสําอางที่อัตราการลดลง สาเหตุหลักเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ส่งผลให้บริษัทย่อยของบริษัทอยู่ระหว่างการหยุดการดำเนินกิจการเป็นการชั่วคราว

ส่วนธุรกิจเครือข่ายอัตราการลดลงจากสาเหตุการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

ด้านนายธนิน ศรีเศรษฐี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DOD เปิดเผยถึงผลดำเนินงานงวดไตรมาส1/2564 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564ว่า กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการขาย 411.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.3 ล้านบาท หรือ เติบโตร้อยละ 20.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ทั้งนี้เป็นผลมาจากกลุ่มธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเติบโตโดดเด่น จากคำสั่งซื้อของกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพที่ยังคงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้เป็นผลมาจากความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในหลายรูปแบบ อาทิ  รูปแบบผง , แคปซูล , ตอกเม็ด , เจลและเยลลี่ และซอฟเจลในรูปแบบที่เคี้ยวทั้งเมล็ด สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

พร้อมกันนี้ด้วยกลยุทธ์เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลในไตรมาส1/2564 กลุ่มบริษัทฯมีกำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit) 125.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.89 ล้านบาท หรือ เติบโตร้อยละ 85.92  เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 67.38 ล้านบาท กลุ่มบริษัทฯยังคงมีผลกำไรส่วนของบริษัทใหญ่จำนวน 55.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 27.16 ล้านบาท หรือ เติบโตร้อยละ 97.15   ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวในข้างต้นเป็นส่วนสำคัญช่วยผลักดันการเติบโตอย่างโดดเด่นให้กับผลประกอบการของบริษัทฯในช่วงไตรมาสนี้  และสามารถต่อยอดไปช่วงไตรมาสถัดไปได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใหม่ ประเภทโพรไบโอติกรูปแบบเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิต (Active)นั้น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจากับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่มีความสนใจส่งออเดอร์การผลิตในเฟสแรก

ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทผงในซองขนาดเล็ก 3 กรัม ที่พร้อมรับประทานมีกำลังการผลิตอย่างน้อย 1 ล้านซองต่อเดือน รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มไลน์การผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทแคปซูลในเฟสถัดไป โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนได้เร็วๆนี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพืชกัญชงนั้น บริษัทฯยังคงแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ต้องการเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการระดับต้นๆในอุตสาหกรรมกัญชงของประเทศไทย ภายหลังจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศหลักเกณฑ์และอยู่ระหว่างการออกใบอนุญาตให้เอกชนสามารถดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนรอการตอบรับอย่างเป็นทางการจาก อย. เพื่อสามารถนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงอย่างเป็นทางการเพื่อจัดสรรให้กับกลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับใบอนุญาตเพาะปลูก หลังจากก่อนหน้านี้บริษัทฯได้ใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ทาง อย.จะขอให้บริษัทฯรวมถึงผู้ได้รับใบอนุญาตทุกราย ปรับปรุงรายละเอียดเรื่องการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงเป็นไปตามเงื่อนไขที่อย.กำหนดอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้บริษัทฯได้ยื่นรายละเอียดให้กับ อย.พิจารณาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้รับการตอบรับเชิงบวก ซึ่งคาดว่าจะสามารถได้รับใบอนุญาตคืน เพื่อนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงอย่างเป็นทางการได้ในเร็วๆนี้

นอกจากนี้ บริษัทฯพร้อมยื่นขอใบอนุญาตตั้งโรงงานสกัดสาร CBD ในการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชงกับทาง อย.เป็นลำดับต่อไป เนื่องจากปัจจุบันบริษัทฯมีความพร้อมเรื่องของโรงสกัด และห้องปฏิบัติการ (LAB) ซึ่งผ่านการรับรองศักยภาพทุกๆด้านตามมาตรฐานหลักสากล

Back to top button