‘เพชรแท้’ แพ้ ‘เพชรเทียม’

เมื่อไม่นานมานี้ เราได้ยินว่า “เนื้อสัตว์ในห้องแล็บ” กำลังเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และสิงคโปร์เป็นชาติแรกที่อนุญาตให้ขายเนื้อไก่จากห้องแล็บได้แล้ว   ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แพนดอร่า ผู้ผลิตจิวเวลรี่รายใหญ่ของโลก ประกาศว่า จะหยุดจำหน่ายเครื่องประดับที่ทำจาก “เพชรแท้”  แล้วหันไปจำหน่ายเครื่องประดับที่ทำจาก “เพชรในห้องแล็บ” แทน อีกราย


กระแสโลก : ฐปนี แก้วแดง

เมื่อไม่นานมานี้ เราได้ยินว่า “เนื้อสัตว์ในห้องแล็บ” กำลังเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และสิงคโปร์เป็นชาติแรกที่อนุญาตให้ขายเนื้อไก่จากห้องแล็บได้แล้ว ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แพนดอร่า ผู้ผลิตจิวเวลรี่รายใหญ่ของโลก ประกาศว่า จะหยุดจำหน่ายเครื่องประดับที่ทำจาก “เพชรแท้” แล้วหันไปจำหน่ายเครื่องประดับที่ทำจาก “เพชรในห้องแล็บ” แทน อีกราย

การประกาศของแพนดอร่าได้รับความสนใจพอสมควรเนื่องจากว่าบริษัทผลิตจิวเวลรี่ได้ถึง 85 ล้านชิ้น ในปีที่ผ่านมา และจำหน่ายเพชรได้ 50,000 ชิ้น

อเล็กซานเดอร์ เลซิค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแพนดอร่ากล่าวว่า เพชรไม่ได้เป็น “สิ่งอมตะ” เท่านั้น แต่ยังเป็น “ของสำหรับทุกคนได้” แพนดอร่าตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนตลาดเครื่องประดับเพชรด้วยผลิตภัณฑ์ที่สามารถซื้อหาได้ และสามารถสร้างขึ้นได้อย่างยั่งยืน

การยอมรับเพชรที่เกิดจากฝีมือมนุษย์มากขึ้นจากคนรุ่นมิลเลนเนียล ที่มีความสนใจต่อหินที่มีราคาถูกลงและยังมีการรับประกันว่า ไม่ได้มาจากพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ได้กระตุ้นให้บริษัทเพชรรายใหญ่อย่างเช่น เดอเบียร์ ยกเลิกนโยบายที่มีมานานหลายทศวรรษ ที่จะหลีกเลี่ยงการใช้จิวเวลรี่สังเคราะห์ในผลิตภัณฑ์ของบริษัท

เพชรที่ได้จากห้องแล็บ มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น เพชรสังเคราะห์ เพชรฝีมือมนุษย์ และเพชรเลี้ยง เพชรเหล่านี้มีคุณสมบัติทางกายภาพเหมือนกับเพชรธรรมชาติ เนื่องจากถูกสร้างขึ้นในห้องแล็บ โดยใช้เทคโนโลยีที่จำลองกระบวนการเติบโตของเพชรตามธรรมชาติ แต่แทนที่จะใช้เวลาหลายพันล้านปีในการสร้างเหมือนเพชรธรรมชาติ เพชรในห้องแล็บสามารถเติบโตได้ในเวลาเพียงหนึ่งถึงสี่สัปดาห์ โดยขึ้นอยู่กับขนาด

แพนดอร่าจะออกคอลเล็กชั่นเพชรห้องแล็บใหม่ในอังกฤษก่อน โดยใช้ชื่อว่า Pandora Brilliance ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 250 ปอนด์ หรือประมาณ 10,000 กว่าบาท จากนั้นจะเปิดตัวในตลาดสำคัญอื่น ๆ ในปีหน้า โดยคาดว่า ตลาดเพชรจะโตต่อไป แต่ยอดขายเพชรสังเคราะห์จะสูงกว่าการเติบโตโดยรวม

เพชรในห้องแล็บของแพนดอร่าจะผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่ผสมก๊าซไฮโดรคาร์บอน โดยใช้ความร้อนถึง 800 องศาเซลเซียส เพื่อกระตุ้นให้อะตอมของคาร์บอนทับถมเป็นเพชรเม็ดเล็ก ๆ และเติบโตไปเป็นผลึกทีละชั้น

ในขณะนี้แพนดอร่าได้ซื้อเพชรแท้จากบริษัทเคจีเค ไดมอนด์ แต่เพชรสังเคราะห์จะซื้อมาจากซัพพลายเออร์ในยุโรปและอเมริกาเหนือ อย่างไรก็ดี แพนดอร่าจะยังคงขายเพชรแท้ที่มีอยู่ในร้านต่อไป

ในปี 2548 ปริมาณการผลิตเพชรแท้ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 177 ล้านกะรัตโดยรวม แต่กว่าหนึ่งทศวรรษต่อมา มีการผลิตลดลงเหลือ 111 ล้านกะรัตในปี 2563 การผลิตเพชรทั่วโลกลดลงหลังจากเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2551 จากนั้นได้ผลิตเพิ่มขึ้นจาก 120 ล้านกะรัตในปี 2552 เป็น 130 ล้านกะรัต ในปี 2556 และเป็น 147 ล้านกะรัตในปี 2561 การผลิตเพชรกระจุกตัวอยู่กับบริษัทรายใหญ่ไม่กี่ราย โดยอัลโรซา และเดอเบียร์ ครองตลาดผลิตเพชรมากสุดในโลก

ส่วนอุตสาหกรรมเพชรห้องแล็บ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการปรับปรุงเทคโนโลยีให้ดีขึ้น และมีบริษัทต่าง ๆ เข้ามาร่วมผลิตมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 เพชรห้องแล็บจะมีอยู่เกือบ 19.2 ล้านกะรัต

รายงานของเบน แอนด์ โค ชี้ว่า ราคาเพชรสังเคราะห์ได้ลดลงในสองปีที่ผ่านมาหลังจากที่เดอเบียร์กลับลำในปี 2561 และต้นทุนการผลิตเพชรในห้องแล็บลดลงจากปี 2018 มากกว่า 10 เท่า แถมคุณภาพตามหลัก 4Cs ก็ไม่ต่างจากเพชรตามธรรมชาติทั้งในเรื่องของการเจียระไน (Cut) สี (Color) น้ำหนัก (Carat) และความใส (Clarity)

นอกจากราคาเพชรห้องแล็บจะถูกกว่าเพชรธรรมชาติแล้ว รายงานของเบนยังระบุว่า มันอาจสวยกว่าด้วย โดยผลการศึกษาที่ได้รับมอบหมายจากอุตสาหกรรมเพชรธรรมชาติเมื่อปี 2562 ชี้ว่า เพชรที่ขุดได้จากเหมืองนั้น มีความเข้มข้นของคาร์บอนน้อยกว่าเพชรสังเคราะห์

กลุ่มคนที่ต่อต้านเพชรจากเหมือง กล่าวว่า การสกัดเพชรทำลายสิ่งแวดล้อมและเรียกว่าเป็น “เพชรสีเลือด” ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน รายงานของฮิวแมน ไรต์ วอตช์ชี้ว่า มีผู้ผลิตเพชรเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ที่สามารถแสวงหาเหมืองเพชรโดยปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ และบริษัทเพชรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคแน่ใจได้ว่า ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการผลิตได้

“เพชร” อาจจะเคยเป็นสิ่งมีค่ามาหลายยุคหลายสมัย แต่ดูเหมือนว่า คนรุ่นใหม่พร้อมที่จะ “เท” “เพชรแท้” เหมือนกับที่พร้อมจะรับประทานเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงในห้องแล็บ การหันมาจับตลาด “เพชรห้องแล็บ” ของแพนดอร่า อาจจะไม่ได้เกิดจากเหตุผลด้านการตลาดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันมีเหตุผลเรื่องสิทธิมนุษยชน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ที่กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัว และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้บริโภครุ่นใหม่ ซึ่งนับวันจะยิ่งรู้สึกว่า ทุกธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อสังคม และ “รักโลก” ให้มากขึ้น

“เพชรแท้” จึงแพ้ “เพชรเทียม” ด้วยประการฉะนี้

Back to top button