ช้างตายทั้งตัวพลวัต2015
เป็นบทเรียนอีกครั้งหนึ่งของธนาคารพาณิชย์ไทย จากความพยายามปล่อยสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ให้กับลูกหนี้ที่มีโครงการธุรกิจสวยหรูในต่างประเทศ ในกรณีของ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI อาจจะไม่ใช่ครั้งแรก แต่คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
เป็นบทเรียนอีกครั้งหนึ่งของธนาคารพาณิชย์ไทย จากความพยายามปล่อยสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ให้กับลูกหนี้ที่มีโครงการธุรกิจสวยหรูในต่างประเทศ ในกรณีของ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI อาจจะไม่ใช่ครั้งแรก แต่คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
ปลายปี 2553 วิน วิริยประไพกิจ ผู้นำคนปัจจุบันของกลุ่ม SSI โรงงานเหล็กใหญ่สุดของไทย พยายามหาทางออกในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างโรงงานเหล็กต้นน้ำและกลางน้ำเข้าด้วยกัน หลังจากล้มเหลวที่จะก่อสร้างโรงงานถลุงเหล็กขนาดใหญ่ที่บางสะพาน เพราะผู้คนและกลุ่มเอ็นจีโอในพื้นที่ต่อต้านอย่างหนัก ด้วยการกู้เงินไปลงทุนในอังกฤษ เพื่อซื้อโรงงานที่ปิดกิจการไปแล้วของกลุ่ม TATA จากอินเดีย
โรงงานเหล็กที่เมืองทีไซด์ (ใกล้กับลิเวอร์พูล) ทางตอนเหนือของอังกฤษดังกล่าว มีอายุก่อตั้งมานานกว่า 100 ปี ผ่านการเปลี่ยนมือเจ้าของมาแล้วไม่น้อยกว่า 17 ราย ก่อนจะปิดกิจการลง เพราะไม่สามารถจะทนแบกรับการขาดทุนแบบล้มลุกคลุกคลาน
การซื้อกิจการดังกล่าวด้วยวงเงินประมาณ 1 พ้นล้านปอนด์ ได้รับการแซ่ซ้องอย่างแรงในอังกฤษ เพราะสามารถทำให้ชาวเมืองทีไซด์ที่ผูกพันกับโรงงานเหล็กดังกล่าวกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังจากที่ต้องตกงานกันเกือบทั้งเมืองเพราะโรงงานปิดตัวลง
สื่อในอังกฤษพากันยกย่องว่านี่คือการลงทุนที่น่าชื่นชม และได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริกจากชาวเมืองเยี่ยงวีรชนกันเลยทีเดียว เพราะทางผู้บริหาร SSI สัญญาว่าจะเปิดโอกาสให้สิทธิชาวเมืองทีไซด์ที่ต้องการทำงานได้เลือกเข้าทำงานในโรงงานก่อนใครอื่น และเด็กลูกชายของหัวหน้าคนงานที่เสียชีวิตไปแล้ว ได้รับเกียรติมาเปิดการถลุงเหล็กในวันเปิดปฐมฤกษ์ครั้งใหม่
โรงงานเหล็กที่ทีไซด์ ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น SSI UK ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ SSI ในไทยถือหุ้น 100% และมีการติดธงชาติไทยที่หน้าโรงงานอย่างภาคภูมิใจ
ในยามนั้น ต้นปี 2554 สถาบันการเงิน 3 แห่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ให้เงินกู้สนับสนุนโครงการ โดยมีวงเงินต้นรวม 23,900 ล้านบาท สำหรับการซื้อโรงงานส่วนอีก 18,000 ล้านบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียนดำเนินงาน โดยถือเป็นดีลขนาดใหญ่ที่จะนำมาซึ่งนวัตกรรมยุคบุกเบิกสำหรับการควบรวมกิจการข้ามชาติครั้งสำคัญ ไม่ต้องอาศัยเงินกู้ต่างชาติที่มีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน
หลังจากการกู้เงินซื้อกิจการ พร้อมกับวิศวกรรมการเงินอื่นๆ เช่น การเพิ่มทุนขนานใหญ่ โรงงาน SSI UK ก็เริ่มเปิดดำเนินการในต้นปี 2555 มีการปรับปรุงด้วยการลดต้นทุน และกระจายความเสี่ยงสารพัดตามประสามืออาชีพ แต่น่าเสียดายที่แผนธุรกิจที่วาดเอาไว้สวยหรู และเชื่อว่ารอบคอบเพียงพอ กลับถูกชะตากรรมทำให้กลายเป็นฝันร้ายขึ้นมา
SSI UK นับตั้งแต่เปิดดำเนินการมาครั้งใหม่ นานกว่า 3 ปี มีผลการดำเนินงานขาดทุนอย่างต่อเนื่องและขาดสภาพคล่องทางการเงิน ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ “ซื้อมาราคาต่ำ แต่ยังมีตำกว่า” เพราะเป็นการซื้อกิจการที่ผิดเวลา เนื่องจากตอนที่เข้าซื้อกิจการเป็นช่วงเวลาที่ราคาเหล็กยังอยู่ในระดับสูงและธุรกิจโรงถลุงเหล็กได้เริ่มมีการเตรียมซื้อวัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กแท่งแบนไว้ แต่เนื่องจากความล่าช้าของโครงการ ผสมเข้ากับการที่ราคาเหล็กปรับลดลงในเวลาต่อมาแรง และต่อมาดิ่งเหวหนัก จึงต้องแบกรับผลขาดทุนจากการตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าของสินค้าคงเหลือและการตั้งสำรองฯจากภาระผูกพันตามสัญญาซื้อวัตถุดิบ
ความพยายามกอบกู้สถานการณ์เพื่อซื้อเวลาของ SSI เกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถรับผลกระทบได้ดีอย่างที่คาดหมายไว้แต่แรก ความรุ่งโรจน์จึงกลายเป็นภาระที่หนักอึ้ง ข้อเท็จจริงจึงสวนทางกับความคาดฝัน
ผลลัพธ์ที่ตามมา หนีไม่พ้นการที่ทั้งบริษัทเจ้าของโรงงานเหล็กในอังกฤษและบริษัทแม่ในไทย มีปัญหาขาดทุนเรื้อรัง และเริ่มขาดสภาพคล่องรุนแรงต่อเนื่อง ความพยายามของผู้บริหาร SSI ในการกอบกู้สถานการณ์ หลายด้าน นับแต่ประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ จนการเพิ่มทุนหาพันธมิตรใหม่ร่วมความเสี่ยง จึงเกิดขึ้นอย่างทุลักทุเล
บนเส้นทางอันขรุขระของธุรกิจดังกล่าว เจ้าหนี้ที่เป็นธนาคาร ต่างพากันลุ้นเอาใจช่วยสุดฤทธิ์ เพราะไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าการ “เต่าใหญ่ ไข่กลบ” คาดหวังว่าสถานการณ์จะกลับมาดีขึ้น แต่นั่นก็เป็นความหวังที่ลอยเลื่อนไปไกลทุกขณะ
ท้ายสุด เมื่อสิ้นไตรมาส 2 ของปีนี้ สถานการณ์ทรุดหนักจนถึงฟางเส้นสุดท้ายเมื่อส่วนผู้ถือหุ้นของ SSI ติดลบ ซึ่งหากไม่แก้ไข จะต้องเข้าสู่การขอรับความช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้กับศาลล้มละลายกลางต่อไป ทำให้การหาทางออกของเจ้าหนี้ธนาคาร กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเลือกอื่นจนถึงขั้นปิดโรงงานในอังกฤษเพราะขาดสภาพคล่องรุนแรง เป็นที่มาของการเริ่มบันทึกตั้งสำรองฯแบบเต็มที่ ในฐานะที่เป็นหนี้จัดชั้นขึ้นมาตามกฎกติกาของ BIS
เป็นไปตามหลัก “ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิดไม่มิด”
ชะตากรรมแสนสั้นของ SSI เป็นสิ่งที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง ถือเป็นบาดแผลของความล้มเหลวที่ไม่คาดเดาล่วงหน้าได้ แล้วก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ชักนำให้บรรดาเจ้าหนี้สถาบันการเงินอย่าง 3 ธนาคารไทย ต้องซวนเซตามได้ด้วยในฐานะเจ้าหนี้ที่ลูกหนี้มีปัญหาขึ้นมา
กรณีที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะกล่าวหาใครให้เป็นแพะรับบาปสำหรับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น สิ่งที่น่าเสียดายย่างยิ่งคือ อนาคตของตระกูลวิริยประไพกิจที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่สุดของไทย จากนี้ไป อาจจะต้องมีชะตากรรมทางลบทำนองเดียวกับกลุ่มทุนที่เคยล้มเหลวจากธุรกิจอื่นมาแล้วก่อนหน้า เพราะ “คนบัญชา หรือจะสู้ฟ้าลิขิต”
ที่สำคัญ ยังได้สะท้อนความพิกลพิการเชิงโครงสร้างของธุรกิจเหล็กในเมืองไทยได้ดีอีกครั้งหนึ่งว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ไม่ครบวงจรขนาดใหญ่หรือขาดบูรณาการนั้น สร้างปัญหาให้ผู้ประกอบการในเวลาต่อมามากเพียงใด