หุ้นปรับฐาน จังหวะซื้อ
เดือนพฤษภาคม 2564 ผ่านมาแล้ว 9 วันทำการ (สำหรับตลาดหุ้น)
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
เดือนพฤษภาคม 2564 ผ่านมาแล้ว 9 วันทำการ (สำหรับตลาดหุ้น)
ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงจากระดับ 1,583 จุด (30 เม.ย. 2564) มาอยู่ที่ 1,549 จุด (17 พ.ค. 2564) หรือเปลี่ยนแปลง -2.14%
หากจะถามว่านี่คือปรากฏการณ์ของ Sell In May ใช่ไหม
Sell In May ที่เป็นช่วงหลังจากบริษัทจดทะเบียนหรือ บจ.ต่างแจ้งผลประกอบการไตรมาสแรกของปีออกมา
พร้อมกับขึ้นเครื่องหมาย XD เพื่อจ่ายเงินปันผล
คำตอบที่ออกมา อาจจะมีส่วนบ้าง
แต่ก็อาจจะผสมกับประเด็นที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้านเข้ามาพอดี ทั้งจากต่างประเทศ เรื่องเงินเฟ้อสหรัฐฯ ลามไปถึงประเด็นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่อาจปรับขึ้น
บวกกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ
และล่าสุดคือสภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีของไทยลงเหลือ 1.5-2.5% จากเดิมคาดไว้ว่าจะเติบโตราว 2.5-3.5%
สถานการณ์ตลาดหุ้นแบบนี้
มีมุมมองที่น่าสนใจจากบรรดากูรูในวงการตลาดหุ้น
อย่าง Creative Investment Space (CIS) หรือสถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่
สถาบันแห่งนี้มองว่า ตลาดหุ้นไทยในเดือน พ.ค. 2564 ปรับฐานลงมา ถือเป็นโอกาสให้นักลงทุนเลือกหุ้นที่มีผลประกอบการที่ดี ทยอยสะสมรอตลาดหุ้นกลับตัวมาเป็นบวกอีกครั้ง
เหตุผลเพราะในระยะกลาง-ยาว ยังเชื่อมั่นว่า ภาครัฐน่าจะพยายามผลักดันเรื่องวัคซีนโควิด-19 ให้ถูกกระจายได้มากขึ้น
และครึ่งปีหลัง สถานการณ์การส่งออกของไทย จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
และมองว่าตลาดหุ้นไทย มีโอกาสจะปรับตัวเชิงบวกล่วงหน้าได้
CIS มีความเห็นว่าระยะยาวเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังฟื้นตัว
และหุ้นยังคงเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่น่าสนใจ
ในระยะสั้นหากเกิดปรากฏการณ์นักลงทุน “เทขายหุ้นทำกำไร” ในช่วงเดือน พ.ค.หรือ Sell In May
ถือเป็นโอกาสในการเพิ่มพอร์ตลงทุนในหุ้น
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิด Sell In May ในตลาดหุ้นไทย โดยปกติช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของไทยจะเป็นช่วง Low Season ทางเศรษฐกิจ ประกอบกับค่าเงินบาทมักจะอ่อนค่าเสมอในเดือน พ.ค.
นั่นเพราะเป็นฤดูกาลจ่าย “เงินปันผล” ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย
และมีการนำเงินออกไปยังต่างประเทศ
“ปรากฏการณ์ Sell In May มีโอกาสเกิดกับตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก โดยตลาดหุ้นไทยมีโอกาสความน่าจะเป็นสูงถึง 60% ประเทศอื่น 50% และตลาดหุ้นสหรัฐฯ 33%”
มีความเห็นที่น่าสนใจจาก “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)
เขาได้แสดงความเห็นแบบส่วนตัวเกี่ยวกับตลาดหุ้นไทยด้วย
โดยยกตัวอย่างของผลสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนล่าสุด
จัดทำโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย
ชี้ชัดว่านักลงทุนยังคงมีระดับ “ความเชื่อมั่นสูง” และมีมุมมองที่เป็นบวกต่อทิศทางตลาดหุ้นไทย
ทว่าปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากที่สุดในช่วงนี้ คือ “วัคซีน”
ตั้งแต่เริ่มมีการอนุมัติใช้วัคซีนเมื่อปลายปีที่แล้ว
ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ตอบสนองในทิศทางบวกอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีตลาดหุ้นโลก (MSCI World Index) ปรับขึ้นเกือบ 30% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สร้างสถิติสูงสุดใหม่ในเดือนที่แล้ว
ล่าสุด ผลการศึกษาของฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ พบว่าความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นแต่ละประเทศในปีนี้ มีความสัมพันธ์ในทางบวก (ค่า Correlation อยู่ที่ 68%) เมื่อเทียบกับความคืบหน้าการฉีดวัคซีนของประเทศนั้น ๆ
โดยพิจารณาจากอัตราการฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากร
แบบจำลองความสัมพันธ์นี้ยังพบอีกว่า อัตราการฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 10% นั้น
จะมีผลเชิงบวกต่อผลตอบแทนตลาดหุ้นโดยเฉลี่ยสูงขึ้นประมาณ 2.5%
ดังนั้น การดำเนินการจัดหาและฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย 50 ล้านคนของรัฐบาลภายในสิ้นปีนี้
จึงมีความสำคัญมากต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยในระยะถัดไป
ถ้าทำได้ตามแผนนี้ เราน่าจะได้เห็นตลาดหุ้นไทยอยู่ในขาขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า
ได้รับข้อมูลแบบนี้แล้ว
ช่วงหุ้นไทยที่ดัชนีแกว่ง ปรับฐาน
น่าจะเป็นจังหวะในการเข้าซื้ออย่างที่บรรดากูรูแนะนำกัน